ช่วงระยะเวลา 14 วันนับจากวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สนามสอบ”ครั้งสำคัญ ว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ กับการคลาย “ล็อกดาวน์” เฟสแรก
หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 หรือ ศบค. ผ่อนปรนให้ 6 กิจการและกิจกรรม สามารถเปิดบริการได้ภายใต้มาตรฐานกลางที่กำหนด โดยให้แต่ละจังหวัดเกณฑ์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะปรับให้เข้มข้นขึ้นก็ได้ แต่ห้ามอ่อนกว่ามาตรฐานกลาง โดยคำนึงด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ก่อนด้านสังคมและเศรษฐกิจ
โดยตัวแทนประเทศไทยที่เข้าสอบรอบแรก 6 กลุ่มกิจการและกิจกรรม ได้แก่
1.ตลาด สด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ตลาดถนนคนเดิน แผงลอย
2.ร้านจำหน่ายอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ที่ขายนอกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารริมทาง หาบเร่
3.กิจการค้าปลีกส่ง ซูเปอร์ สะดวกซื้อ ให้นั่งกิน รถเร่ รถวิ่ง ขายสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ชุมชน ร้านขายสื่อสารคมนาคม
4.กิจกรรมสวนสาธารณะ สนามกีฬากลางแจ้ง เทนนิส ยิงปืน จักรยาน สนามซ้อม
5.ร้านตัดผม เสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์
6.ร้านตัดขนสัตว์ รับเลี้ยง และฝากสัตว์
อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่อนปรนให้ กิจการและกิจกรรมที่เข้าข่าย 6 ประเภทนี้ติดเครื่องไปได้ก่อน แต่ก็ยังครอบเอาไว้ภายใต้ร่มพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมงตั้งแต่ 22.00 น.-04.00 น. ที่สำคัญคือขยายระยะเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคไปถจนถึง 31 พฤษภาคม จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
โดยน.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์ศบค. กล่าวว่า จะมีการติดตามผลจากมาตรการผ่อนคลายดังกล่าว 14 วัน ถ้ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับนี้ไปเรื่อยๆก็สามารถเลื่อนลำดับกิจการและกิจกรรม ให้ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 หลักหรือ 3 หลัก ต้องถอยหลังกลับไปตึงในมาตรการเหมือนเดิม ทุกสิ่งที่กล่าวทุกคนมีส่วนร่วมทั้งหมด ตามหลักการทุกคนต้องร่วม 90% เราถึงจะคุมโรคได้ หลายประเทศเพลี่ยงพล้ำนิดเดียว กลับไปเหมือนเดิม และเราไม่ต้องการความเสี่ยงแม้แต่น้อย และนี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเรา
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้ ที่ถือแนวหน้าว่าจะสอบผ่านด่านหินของ ศบค.ไปได้หรือไม่ ในการจัดระเบียบการให้บริการตามมาตรฐานกลางของศบค. อย่างเคร่งครัด และเข้มข้น
ขณะที่ประชาชนผู้ใช้บริการเอง นอกจากให้ความร่วมมือในระเบียบปฏิบัติของทางผู้ประกอบการแล้ว สามารถช่วยเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบการให้บริการว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและสังคม
เพราะหากกราฟผู้ป่วยโควิดกลับมาพุ่งทะยานอีกครั้ง โอกาสที่ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่รอการคลายล็อกในเฟส2 และ 3 คงต้องสะดุดหยุดลง และความพยายามที่ประชาชนสู้อุตส่าห์อดทนให้ความร่วมมือหยุดเชื้อเพื่อชาติกว่าเดือนเศษที่ผ่านมาต้องสูญเปล่า