ผลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดย สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ในหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าขจัดโควิด-19" ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 2พ.ค.63 สะท้อนว่าคะแนนความนิยมที่น่าจะทำให้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐาน ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ยิ้มออก
โดยผลคะแนนในด้าน การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เริ่มมีการรระบาดของโควิด-19จนถึงปัจจุบัน จากคะแนนเต็ม 10ประชาชนให้คะแนนความตั้งใจทุ่มเททำงานแก้ปัญหาที่ 8.24 คะแนน ส่วนการเกาะติดใส่ใจแก้ปัญหาวิกฤตโควิด ได้ 7.85 คะแนน
แต่น่าสนใจตรงที่ งานด้านอื่นๆกลับได้คะแนนผ่านแบบ "เฉียดฉิว" โดย มาตรการต่างๆขณะแก้ปัญหา ได้ 5.29 คะแนน การเยียวยาฟื้นฟูได้ 5.02 คะแนน และการเตรียมการรับมือปัญหาได้ 5.01 คะแนน
แน่นอนว่าคะแนนความนิยมที่ถูกสะท้อนผ่านการสำรวจความเห็นโดย ซูเปอร์โพล ครั้งนี้แม้จะไม่ใช่ "เงื่อนไขทั้งหมด" ที่พล.อ.ประยุทธ์ จะนำมาตัดสินใจ "ปรับ" หรือ "เปลี่ยน" ในส่วนของ "ตัวผู้เล่น" เมื่อการต่อสู้กับ "สงครามโควิด" จบลงก็ตาม
แต่อย่างน้อยที่ ผลคะแนนที่ออกมาเช่นนี้ กำลังพุ่งเป้าไปยัง การบริหารจัดการ ของ "รัฐมนตรี" ในส่วนของ "เศรษฐกิจ" ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน !
ปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ "พรรคแกนนำรัฐบาล" มีอันต้องเจอกับ "ประกาศิต" จาก "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ แม้จะมี บางกลุ่ม บางฝ่าย ที่เปิดศึก "บีบ" ขั้วอำนาจของ "อุตตม สาวนายน" รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าพรรค จะไม่อยาก "สงบศึก" ก็ตามที
แต่เมื่อได้ผ่านการประลองกำลังกันไปแล้วในยกแรก ผลที่ออกมาปรากฎชัดเจนว่า ฝ่ายที่ถูกบีบ อย่างขั้วอุตตม ที่พ่วงด้วย "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค ทำไม่สำเร็จ ดังนั้นหากจะเดินหน้าดึงดันต่อไป มีแต่จะทำให้ กลุ่มที่ออกแรงกดดัน ซึ่งนำโดย "สุชาติ ชมกลิ่น" ประธานส.ส.ของพรรค ที่ออกแรงเขย่า ร่วมกับ "วิรัช รัตนเศรษฐ" ประธานวิปรัฐบาล มีอันต้องตกที่นั่งลำบาก
ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องกลับมาอยู่ในความสงบ แม้จะยังไม่อยาก "หย่าศึก" ก็ตามที !
อย่างไรก็ดี คลื่นใต้น้ำภายในพรรคพลังประชารัฐ นั้นยังไม่มีทางที่ยุติลงง่ายๆ ตราบใดที่ "เดิมพัน" คือเก้าอี้รัฐมนตรี ในครม. คือเป้าหมายใหญ่สำหรับ "แกนนำ" ในพรรคที่เคยพลาดหวังกันมาแล้วเมื่อครั้งตั้งครม. "ประยุทธ์ 2/1"
และยิ่งเมื่อคนในพรรคเอง มองเห็นแล้วว่า "จุดอ่อน" ในการทำสงครามสู้กับเชื้อไวรัสโควิด ครั้งนี้ กลับไปอยู่ที่ "ทีมเศรษฐกิจ" ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ทั้งการสะท้อนผ่านผลการสำรวจความเห็น ไปจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว "ซึ่งหน้า" เมื่อมีประชาชนบุกไปปักหลักกันที่หน้ากระทรวงการคลัง เมื่อไม่ได้รับเงินจากมาตรการเยียวยามาแล้ว
ดังนั้นแม้วันนี้ "เกมเขย่า" จะสงบลง แต่ก็เป็นแค่ "ชั่วคราว" รอจังหวะเปิดปฏิบัติการรอบใหม่ที่อาจรุนแรงและหนักหน่วงกว่า !