ทวี สุรฤทธิกุล การปกครองแบบเก่าเขาใช้ “อำนาจ” แต่แบบใหม่เขาใช้ “หัวใจ” ในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ที่ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งสั่งสอนกันมาแต่โบราณ กล่าวถึงการใช้อำนาจของผู้ปกครองว่าจะต้องทำให้ราษฎร “เชื่อฟัง” การเชื่อฟังจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย ความสงบเรียบร้อยจะทำให้บ้านเมืองมีความมั่นคงและเข้มแข็ง อันเป็นพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรืองแห่งรัฐ อย่างที่ในสมับโบราณเรียกว่า “ความวัฒนาถาวร” หลักการบริหารที่สอนกันมาในมหาวิทยาลัยเมื่อ 50 กว่าปีก่อน กล่าวถึง “หลัก 4 เอ็ม” ได้แก่ Man, Material, Money และ Management คือในการบริหารต้องเริ่มจากการที่ต้องมี คน วัสดุอุปกรณ์ เงิน และวิธีการจัดการ แต่ในปัจจุบันจะเน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วม เรียกว่า New Public Administration – NPA คือกระจายความรับผิดชอบไปยังภาคส่วนอื่นๆ นอกภาครัฐ ได้แก่ ภาคเอกชน(กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการ) และภาคประชาสังคม (ประชาชน กลุ่มอาชีพ และองค์กรพัฒนาเอกชน – NGOs) ให้เข้ามาช่วยรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของประเทศ พร้อมกันนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของการใช้อำนาจ ที่เน้นการใช้อำนาจบังคับตามกฎหมายและระเบียบคำสั่งของทางราชการ มาเป็นการใช้ระบบการปรึกษาหารือและความยินยอมพร้อมใจ พร้อมกับนำแนวคิด “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) มาทำให้ระบบการบริหารมีความโปร่งใสและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ประเทศไทยมีพื้นฐานทางสังคมที่ดี นั่นก็คือความโอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ความเป็นมิตร การกตัญญูรู้คุณ และความอ่อนน้อมถ่อมตน ระบบราชการไทยก็ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการปรับปรุงการบริหารของรัฐ ร่วมเข้าด้วยกันกับธรรมาภิบาล ดังจะเห็นจากการที่ได้ใช้ระบบ “อาสาสมัคร” มาให้บริการในด้านต่างๆ ของทางราชการ เริ่มจากการรักษาความปลอดภัย การจัดระเบียบในการจราจรและการสัญจรในชุมชน อย่างเช่น งานของคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ดูแลโดยกำนันและผู้ใหญ่บ้าน งานบรรเทาสาธารณภัยชุมชน และที่มีชื่อเสียงมากๆ ก็คือ “อาสาสมัครสาธารณสุข - อสม.” อสม.ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2520 ตามนโยบายพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524) ทำหน้าที่เป็น “หน่วยรบในพื้นที่” ด้านการป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บในชุมชน ตั้งแต่การเป็นผู้สื่อข่าวทำหน้าที่แจ้งข่าวและให้ข้อมูลด้านสาธารณสุข ไปจนถึงการช่วยกอบกู้ดูแลผู้ป่วย นำผู้ป่วยไปหาหมอ และติดตามผลการรักษาเมื่อผู้ป่วยกลับมาอยู่ในชุมชน ตลอดจนการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการสาธารณสุข เพื่อใช้ในการวางแผนและวางมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข การป้องกันและรักษาโรค ตลอดจนการดูแลสุขอนามัยในชุมชน ปัจจุบันทั่วประเทศมีจำนวนสมาชิกอยู่ตามชุมชนต่างๆ กว่า 800,000 คน ซึ่งในวิกฤติโควิด -19 อสม.ได้ทำงานดูแลชุมชนอย่างเข้มแข็ง ช่วยรายงานตัวเลขข้อมูลที่ละเอียดชัดเจน และช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างเอาใจใส่ ทำให้การต่อสู้กับโรคร้ายนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกถึงความสำเร็จในการจัดการกับวิกฤติครั้งนี้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการเสียสละทุ่มเทของอาสาสมัครสาธารณสุขตามชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยนี่เอง จากวิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้ คนที่สนใจในวิชาบริหารน่าจะมองเห็น “แนวโน้มใหม่” ของการบริหารในประเทศไทย ที่การเมืองได้ลดบทบาทไปจากระบบบริหารของประเทศเกือบจะหมดสิ้น พร้อมกับเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารประเทศไปสู่ “การบริหารภาครัฐแนวใหม่” ที่ผู้เขียนมีข้อสังเกตแบบที่นักวิชาการเรียกว่า “ฉากทัศน์” หรือ “Scenario” อันหมายถึง “การมองให้เป็นภาพต่อเนื่อง” เพื่อการคิดวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันดังนี้ ภาพแรก “การกำหนดนโยบายจากชุมชน” แต่เดิมการกำหนดนโยบายของรัฐบาลจะเริ่มต้นจากภาคราชการ โดยข้าราชการเป็นผู้นำเสนออย่างที่เรียกว่า “ตั้งแท่น” คือให้ทั้งข้อมูลและข้อตัดสินใจแก่นักการเมือง (ซึ่งมักจะเต็มไปด้วยการนำเสนอผลประโยชน์ให้แก่นักการเมืองไปพร้อมๆ กัน อันทำให้ระบบราชการเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น) ในสมัยก่อนนั้นนักการเมืองจึงถูกข้าราชการ “ครอบ” หรือควบคุมไว้ได้ในอุ้งมือ(หรือ “ใต้อุ้งเท้า” ในสมัยเผด็จการที่ข้าราชการเป็นใหญ่อย่างเต็มตัว) ทว่าตั้งแต่ยุคทุนสามานย์ในช่วง พ.ศ. 2544 – 2549 นักการเมืองใต้สยายปีกออกพ้นจากการครอบงำของข้าราชการ พร้อมกับพยายามทำตัวเป็นนายของข้าราชการ (ซึ่งก็ไม่สำเร็จ เพราะข้าราชการก็แค่หาทางเอาตัวรอด แกล้งสยบยอมต่อนักการเมืองเพื่อไม่ให้ถูกรังแก ในขณะเดียวกันก็ยังได้ร่วมผลประโยชน์ที่เคยมีมาแต่เดิมนั้นมากยิ่งขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากคดีความในอภิมหาโปรเจ็คต่างๆ ภายหลังที่มีการเปิดโปงและจับกุมผู้กระทำความผิด ก็มีข้าราชการร่วมติดร่างแหอยู่ด้วยจำนวนมาก) ด้วยการคิดอภิมหาโปรเจ็คทั้งหลาย ที่รู้จักกันในชื่อเรียกว่า “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ซึ่งสุดท้ายในยุคที่ “ทหารคุมการเมือง” อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นโยบายต่างๆ ก็กลับไปรวมศูนย์ที่ระบบราชการเหมือนเดิม แต่ว่าเมื่อมีวิกฤติโควิด -19 เกิดขึ้น ระบบทหารได้ถูกท้าทายจากระบบคิดแบบใหม่ แม้ทหารจะอ้างความดีความชอบถึงการใช้อำนาจเด็ดขาด คือการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าได้ทำให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย แต่สิ่งที่ระบบทหารทำไม่ได้ก็คือ "ประสิทธิภาพของการสู้กับเชื้อโรค" ที่แม้แต่ผู้นำรัฐบาลซึ่งมาจากทหารก็ “เป๋ไปเป๋มา” ในที่สุดต้องหันไปขอความช่วยเหลือจาก “มืออาชีพและผู้เชี่วชาญ” คือบรรดาคุณหมออาวุโสต่างๆ ให้มากอบกู้รัฐบาล จนได้แนวทางที่จะเอาชนะโรคร้ายในครั้งนี้ อันเป็นที่มาของการบริหารแนวใหม่ ที่การกำหนดนโยบายมาจากชุมชน ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ชุมชนมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญ” ยังมีตัวอย่างของ “ชุมชน” อื่นๆ ในการช่วยนำเสนอแนวทางในกำหนดนโยบายให้แก่รัฐบาล ซึ่งจะขออธิบายด้วยฉากทัศน์อันดับถัดไป ที่จะมีภาพของการ “ทำงานร่วมกัน” อย่างเข้มข้นในทุกระดับ (เว้นแต่ในภาคการเมืองที่ยังเป็นจรเข้ขวางคลองหรือปัญหาใหญ่ของการบริหารในภาวะวิกฤติ) แล้วเราก็จะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่า ทำไมคนไทยจึงรังเกียจการเมืองเข้าไส้ถึงขนาดนี้ แม้แต่นายกรัฐมนตรียังรังเกียจจนระเบิดออกมาเต็มปากเลย