ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เวลามีคนพูดถึง “ปลากุเลาเค็ม” ผู้คนมักนึกถึง “ตากใบ-นราธิวาส” ที่ราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท และหากกล่าวถึงพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรง “ตันหยงเปาว์” มักเป็นหนึ่งในสถานที่ที่อยู่ในภาพจำ “ตันหยงเปาว์” เป็นสถานที่ที่ผู้เขียนเคยเดินทางลงพื้นที่ไปสัมผัสแล้ว เห็นทั้งด้านหม่นและสวยงามในฐานะที่ถูกตีตราว่าเป็น “พื้นที่สีแดง” พื้นที่ที่มีรอยแผลระหว่างทหารกับชุมชน การเข้าถึงชุมชนที่นี่ถือว่าเป็นไปได้ยาก ชาวบ้านยังฝังใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในชุมชน ถึงกับพยายามเรียกร้องให้บ้านตันหยงเปาว์เป็นพื้นที่ปลอดอาวุธโดยให้กลุ่มทหารที่จะเข้าไปในหมู่บ้านปลดอาวุธทุกชนิด แต่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งในที่สุด “สมาคมชาวประมงพื้นบ้าน” ได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างกิจกรรม ผ่านอาชีพและวิถีชีวิต เชิญชวนให้กลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบมาทำงานแปรรูปอาหารทะเลกับทางสมาคมฯ ทำให้สถานการณ์เบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด จนไม่นานมานี้เมื่อได้ติดตามชมสารคดีเรื่อง “กุเลา : ราชาปลาเค็ม” ในรายการภูมิภาค 3.0 “แลต๊ะ แลใต้” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ปรากฏว่าเรื่องเล่าดีๆ เรื่องนี้ได้สร้างมุมมองใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ “ปลากุเลา” และ “ตันหยงเปาว์” เป็นอย่างยิ่ง บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีพื้นที่คล้ายเกาะ หน้าบ้านมีทะเลอ่าวไทยยาวออกไปส่วนหลังบ้านจะเป็นคลองโอบล้อมหมู่บ้านเอาไว้เหมือน “อ่าวใน” และที่นี่คือพื้นที่ของประมงพื้นบ้านซึ่งในอดีตที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับชุมชนประมงอื่นๆ นั่นก็คือเครื่องมือทำลายล้างของเรือขนาดใหญ่ ทั้งอวนรุน อวนลาก ที่กวาดล้างทุกอย่าง แม้กระทั่งวิถีชีวิตผู้คน จึงต้องจับกลุ่มรวมตัวต่อสู้แบบ “สันติวิธี” กระทั่งได้ผลอย่างน่าพอใจ ทะเลฟื้นตัวและมอบความอุดมสมบูรณ์ให้พวกเขาอีกครั้ง ปลากุเลาคือตัวชี้วัดความสมบูรณ์ที่กลับมาใหม่ บริเวณปากอ่าวมีระบบนิเวศที่สำคัญสำหรับปลากุเลา หากพื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลกระทบกับทุกชีวิตเช่นกัน จำนวนปลากุเลาที่มีมากขึ้นทำให้นำไปสู่วิธีการแปรรูปอาหารชั้นเลิศซึ่งถูกจัดว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม” เพาซี ยะซิง และ รอฮานะ สิเดะ ผู้ผลิตอิสระ ในฐานะผู้ผลิตสารคดีชุดนี้เล่าถึงแนวคิดและประเด็นที่อยากนำเสนอว่า หลักประกันของสันติภาพที่ยั่งยืนประการหนึ่งคือ การที่ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนั้นๆ มีความอยู่ดีกินดี มีรายได้ที่แน่นอนมั่นคง มีความสามารถที่จะจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างสมดุล หากในพื้นที่มีความมั่นคงทางอาหารย่อมหมายถึงสันติภาพก็ได้เกิดขึ้นเช่นกัน ดังเช่นบ้านตันหยงเปาว์ ชาวบ้านที่นี่บอกว่า พวกเขาต้องต่อสู้กับนายทุนที่ทำการประมงแบบผิดกฎหมายอย่างอวนรุนมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 30 ปีที่ชาวบ้านต้องต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ก่อนหน้าที่จะมีอวนรุนเข้ามาในทะเลหน้าบ้านของพวกเขา ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีสัตว์น้ำมากมาย และชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี หลังจากอวนรุนเข้ามาทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายไปเกือบหมด ทำให้ชาวบ้านต้องต่อสู้อย่างเข้มข้น ปัจจุบันอวนลากมีปริมาณที่ลดลง ทรัพยากรเริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ทำให้ปลาที่หายไปเริ่มกลับมาให้เห็นอย่างเช่น “ปลากุเลา” ปลากุเลาสามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลอย่างเห็นได้ชัด เพราะระบบนิเวศและวงจรชีวิตของปลากุเลา จะอาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวที่มีแพลงตอน อาหารของปลากุเลาคือสัตว์น้ำที่กินแพลงตอนเป็นอาหารเช่น ปลาหลังเขียว ปลากระบอก ที่ใดมีแพลงตอนที่นั้นต้องมีปลากุเลาอยู่ด้วยเช่นกัน น้ำจืดที่มาจากธรรมชาติไหลลงสู่ทะเลช่วงบริเวณปากอ่าวนั้นถือว่าเป็นระบบนิเวศที่สำคัญสำหรับกลุ่มปลาเหล่านี้ ในปัตตานีเองมีแม่น้ำสายสำคัญๆ คือ แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ตลอดจนแตกแขนงเป็นคลองต่างๆ ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้านจำนวน 52 หมู่บ้าน มีเรือกว่า 2,900 ลำ รองรับการประกอบธุรกิจชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการท้องถิ่นและภาครัฐในการยกระดับสินค้าเพิ่มมูลค่าสร้างมาตรฐานในการผลิตสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ปลากุเลาเค็มที่เป็นผลผลิตจากชุมชน จากเดิมที่บ้านตันหยงเปาว์แห่งนี้ชาวประมงจับปลาได้ก็นำไปขายเป็นปลาสด ส่งออกไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือจังหวัดนราธิวาส ซึ่งขายได้เพียงกิโลกรัมละ 250 บาท ภายหลังเมื่อมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะวิสาหกิจชุมชน จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาและแปรรูปสินค้าด้วยตนเอง จนเกิดเป็นสินค้าโอรังปันตัยหรือชาวเล ที่เรียกกันว่า “ปลากุเลาเค็มกางมุ้ง” มีเรื่องราวความเป็นมาและสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบอาหารทะเลในพื้นที่ มีกระบวนการผลิตและแปรรูปที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นนับตั้งแต่จุดเริ่มต้น การได้มาของวัตถุดิบปลากุเลาสดจากท้องทะเลสู่กระบวนการแปรรูป โดยแขวนปลาให้สะเด็ดน้ำ นวดเนื้อปลาเพื่อความนุ่ม อร่อย โดยการใช้อุปกรณ์นวดปลา ผู้คนในพื้นที่บ่มเพาะทักษะและความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น ปราศจากการใช้สารเคมีฉีดพ่นในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน “ปลากุเลากางมุ้ง” ของบ้านตันหยงเปาว์ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500-1,700 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และทางสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี บ้านตันหยงเปาว์ ยังเป็นที่รับซื้ออาหารทะเลสดจากกลุ่มสมาชิกประมงเพื่อไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาลกรุงเทพฯ สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี บ้านตันหยงเปาว์ ยังมีโรงเรียนชาวประมงพื้นบ้านที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการเรียนรู้โดยเน้นให้คนที่มากกว่าสอนคนที่รู้น้อยกว่าด้วยจิตแบ่งปัน โรงเรียนนี้ไม่มีอาคารที่ตั้ง แต่จะตระเวนไปในทุกพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านการประมงต่างๆ ถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านการทำประมงผสมผสานองค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อความถูกต้อง ใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมาย และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ “การได้มาซึ่งปลากุเลาเค็มแต่ละตัว ต้องผ่านการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของชาวประมงพื้นบ้าน และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ สร้างระบบนิเวศใต้น้ำที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้ยังมีปลากุเลาให้บริโภคอย่างปลอดภัย นั้นหมายถึงพื้นที่แห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และสามารถสร้างรายได้ให้” สารคดีทิ้งท้ายประเด็นสำคัญเอาไว้ พร้อมกับคำตอกย้ำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร การอยู่ดีกินดี มีรายได้ที่มั่นคง และสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างสมดุล นั้นคือหลักประกันของสันติภาพที่ยั่งยืนประการหนึ่งเช่นกัน”