หลายฝ่ายต่างรอลุ้น ว่าที่สุดแล้วภายหลังจากที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ต่ออายุพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1เดือนแล้วมาตราการคลายล็อค ต่างๆ จะออกตามมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง กับการใช้ชีวิตของผู้คน ว่าจากนี้ไป ประชาชนจะต้อง "ปรับ" และ "เปลี่ยน" พฤติกรรมอะไรบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สามารถต่อสู้กับไวรัสโควิดจากจุดที่เคยวิกฤติในระยะแรก จนพลิกกลับมาอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ตัวเลขที่ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่เลขหลักตัวเดียว ติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน อีกทั้งจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ก็อยู่ในระดับที่ "ระบบสาธารณสุข" ของไทยสามารถรองรับได้ นั่นหมายความว่า เมื่อเวลานี้ทั้งรัฐบาล ระบบสาธารณสุข และพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ต่างให้ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ จนทำให้ "ทีมไทยแลนด์" เอาอยู่ รับมือกับไวรัสโควิด ได้ในยกแรก จึงเป็นเสมือน "เดิมพัน" ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อมีการคลายล็อคให้กับ กิจกรรมและกิจการต่างๆได้แล้ว สิ่งที่ทำเอาไว้ จะต้องไม่สูญเปล่า ! ด้วยการที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด เพิ่มขึ้นในลักษณะ "ก้าวกระโดด" เป็นเส้นกร๊าฟที่พุ่งขึ้นเหมือนก่อนหน้านี้ จนทำให้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ "แม่ทัพใหญ่" ของศบค. ถึงกับต้อง "กลุ้มหนัก" มาแล้ว ! การออกมาแถลงข่าวของ "พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา" เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะ หัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางของศบค. ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้อง "ประเมินสถานการณ์" เป็น "รายวัน" ทั้งนี้ศบค.ได้กำหนดระยะที่ 1 เอาไว้ช่วงเวลา 14 วัน เมื่อถึงประมาณวันที่ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมช.จะประเมินว่าการดำเนินการในระยะแรกมีทิศทางเป็นอย่างไร " ถ้าพบว่าไม่ได้ผล และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะยกเลิกการผ่อนปรนทุกอย่าง จบทันที ไม่ต้องมาพูดถึงระยะที่ 2-3-4 แต่ถ้าทิศทางการแพร่ระบาดของโรคและสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็จะดำเนินการผ่อนปรนในระยะต่อไปได้ แต่ทั้งหมด เราจะต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ" (30เม.ย.63) ดังนั้นการที่ศบค. โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้ผ่อนปรนมาตรการที่เคยเข้มงวด เพื่อเปิดทางให้การดำรงชีวิต และ "เศรษฐกิจ" สามารถขยับเดินต่อไปได้นั้น ย่อมไม่ใช่การคลายล็อค เพื่อพาประเทศกลับไปเจอ "ปัญหาใหม่" ด้วยการ "คุมไม่อยู่" แต่หากในขณะเดียวกัน ถ้าศบค.ยังไม่ยอมผ่อนปรนมาตรการ ต่างๆ เพื่อคลายความตึงเครียดลงบ้าง อาจจะกลายเป็นเพิ่มความกดดันให้เกิดขึ้นในทุกทาง ทุกมิติ ขึ้นมาโดยปริยาย ปฏิบัติการ เปิดช่องให้ได้มีช่องทาง ระบายอากาศครั้งนี้ ยังเป็นการ "ต่อลมหายใจ"ให้กับภาคธุรกิจ ให้เศรษฐกิจได้ เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่รัฐบาลและศบค.ใช้ "ยาแรง" จนติดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส ลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่ "เอาอยู่" ได้อย่างที่เห็น !