ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับ คือผลพลอยได้จากมาตรการลดการเดินทางสัญจรของผู้คนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการปิดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล เกิดคุณูปการต่อระบบนิเวศน์ใต้ทะเลได้ฟื้นฟูตัวเอง จนเกิดความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ทะเลหายากพาเหรดกันออกมาอวดโฉมแก่สายตาชาวโลก เป็นภาพที่หาดูได้ยาก
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปในช่วงที่ปิดการท่องเที่ยวทางทะเลนั้น สัตว์ทะเลอันดามัน ที่ปรากฏตัวออกมา หลักๆ คือเต่ามะเฟือง พะยูน วาฬเพชฌฆาตดำ และฉลามหูดำ
“เต่ามะเฟือง เข้ามาวางไข่ก่อนโควิด ลูกเต่าบางรังเกิดในช่วงโควิด ว่ายลงทะเลไร้เรือ ยังมีรายงานเต่าทะเลอื่นๆ เช่น เต่าตนุ ขึ้นมาวางไข่ถึงชายฝั่ง รวมถึงหาดหน้าสนามบิน พื้นที่สำคัญคือ turtle coast ตั้งแต่เหนือภูเก็ตขึ้นไปจนถึงพังงาและระนองใต้ แถวนี้มีมาตรการบางอย่างช่วงแม่เต่าวางไข่ ยังเป็นพื้นที่รณรงค์เรื่องขยะทะเล หากจัดเป็นพื้นที่เน้นหนักในเรื่องนี้ ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวไม่รบกวนหาด การสัญจรทางน้ำต่างๆ ในช่วงเต่าวางไข่ การเน้นเป็นพื้นที่โมเดลขยะทะเล เรื่องพวกนี้จะช่วยได้เยอะ และเชื่อว่าทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น พี่น้องแถวนั้น พร้อมสำหรับการเดินหน้า”
อีกด้านหนึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤติ โควิด-19 กำลังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ จากรายงานของ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ล่าสุดพบว่า ขยะเพิ่มปริมาณขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านและการหยุดโรงเรียน นอกจากนี้ข้อมูลจาก กทม.ยังระบุ ถึงขยะอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มขึ้นถึง 1,500 กก.ต่อวัน ซึ่งปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤติซ้อนวิกฤติและต้อง มีการเร่งรับมือ
ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหดหายจากกว่าวันละหลายหมื่นคน หรือราว 8-9 แสนคนต่อเดือนเมื่อช่วงต้นปี 2563 เหลือเพียงหลักร้อยคนเท่านั้นที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแต่ละวัน ซึ่งคงต้องรอการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในตลาดหลักสำหรับการฟื้นฟูร่วมด้วย โดยประเมินว่า สำหรับประเทศไทยนั้น จะใช้เวลาฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างน้อยอีกประมาณ 5 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญบางท่านประเมินยาวนานถึง 18 เดือนก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้น่าจะเป็นในกรณีที่ไม่สามารถค้นหาวัคซีนในการป้องกันโรคได้
“ตอนนี้มีข่าวดีจาก 5 สำนักงานของ ททท.ในจีนที่ได้รับรายงานว่า มีสายการบินในจีนเริ่มติดต่อขอบินกลับเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งก็ต้องมาดูต่อไปว่าไทยจะพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้เลยหรือไม่ โดยเชื่อว่าหลังจากนี้การต้อนรับนักท่องเที่ยวก็จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยและสุขภาพของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น”
เราเห็นว่า หลังผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องมีแผนรับมือนักท่องเที่ยวทั้งจากในและนอกประเทศ ที่พร้อมจะพุ่งทะยานไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่สำคัญคือการบริหารร่วมกันของทุกภาคส่วน ให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาระบบนิเวศน์ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ต้องยืดหยุ่นเพื่อการอยู่ร่วมกัน และรักษาโลกเอาไว้ให้กับลูกหลาน