“จะรอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แล้วเศรษฐกิจเป็นศูนย์ด้วยหรืออย่างไร”
เป็นคำถามที่สะท้อนถึงความอดรนทนไม่ไหวต่อมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ รายได้ประชาชน โดยเฉพาะผู้หาเช้ากินค่ำ ที่ไม่มีเงินสะสมหรือทุนสำรองมากพอหากจะยืดระยะเวลาออกไปนานกว่านี้
กระนั้น สถานการณ์ของโรคก็ยังไม่น่าไว้วางใจ แม้แนวโน้มการควบคุมโรคจากมาตรการจะเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังด้วยความไม่ประมาท การหาจุดสมดุลที่ไปด้วยกันระหว่างสุขภาพที่ปลอดภัยกับเศรษฐกิจที่ปลอดโปร่ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังอย่างที่สุด ด้วยอาจไม่มีโอกาสให้แก้ตัว
อย่างไรก็ตาม ไม่เกินความคาดหมายที่รัฐบาลจะตัดสินใจต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนคือตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม -วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 โดยยังคง 4 มาตรการ ได้แก่
1. ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักร 2. ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว 22.00 น.- 04.00 น.) 3. งด ชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด 4. งดการดำเนินกิจกรรมในคนหมู่มาก เช่น การอบรม สัมมนา กิจกรรมในที่โล่งแจ้ง
ทั้งนี้ หลักคิดของแนวทางผ่อนปรน ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลักและนำปัจจัยอื่นมาประกอบการพิจารณา โดยยังต้องให้มีการทำงานที่บ้านร้อยละ 50 พิจารณากิจกรรมที่จำเป็น ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา กิจกรรมนั้นต้องประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1. เว้นระยะห่างทางสังคม 2. การวัดอุณหภูมิ 3. การล้างมือ การมีเจลแอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อโรค บริการ 4. การจำกัดจำนวนคนที่เหมาะสมต่อสถานที่ และ 5. การมีแอปพลิเคชันติดตามตัว
โดยต้องจัดสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของสาธารณชน ขณะเดียวกัน ก็ยังคงต้องเร่งรัดตรวจหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง มีเทคโนโลยีตรวจตรา ติดตาม การดำเนินการของสถานที่ประกอบการต่าง ๆ อาทิ การใช้กล้อง CCTV เป็นต้น ซึ่งการประเมินผลการผ่อนปรนอย่างน้อยทุก 14-15 วัน ซึ่งสามารถผ่อนคลายหรือระงับการผ่อนปรนทันที
ขณะที่แนวทางของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอแนวทางการผ่อนปรน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ
กลุ่มสีขาว มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านขนาดเล็กอยู่ที่โล่งแจ้ง ควบคุมได้ สวนสาธารณะ
กลุ่มสีเขียว สถานที่ประกอบการขนาดเล็ก อาจติดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ มีมาตรการควบคุมได้ พื้นที่ไม่มาก สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง
กลุ่มสีเหลือง สถานที่ปิด มีคนมาจำนวนมาก ติดแอร์ ขนาดใหญ่
กลุ่มสีแดง ที่มีคนมาชุมนุมแออัดมาก เป็นที่เสี่ยงสูง อาทิ สนามมวย สถานบันเทิง เป็นต้น
เราเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และเข้าใจว่าพระราชกำหนดฯเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมให้มาตรการต่างๆมีประสิทธิภาพ หากแต่ระหว่างอยู่ในห้วงเวลาของพระราชกำหนดฯนี้ การเยียวยาและชดเชย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประคับประคองผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำเป็นจะต้องปฏิบัติการเชิงรุก ส่งความช่วยเหลือลงไปให้ถึงมือ เป็นเครื่องช่วยหายใจให้กับประชาชนที่ขาดแคลนอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน