สถาพร ศรีสัจจัง
บังเอิญเปิดทีวี. ไปพบท่านทูตไทยประจำประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียคนปัจจุบัน คือท่านทูตดำรงใคร่ครวญ กำลังนั่งบรรยายเรื่องทำนอง “สภาพของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน” หรืออะไรทำนองนั้นอยู่ในทีวี.บางช่อง(ว่าจะโฆษณาให้แต่จำไม่ได้จริงๆว่าช่องไหน?) บางตอนที่ท่านบรรยายช่างสอดรับกับบรรยากาศเมืองไทยเราที่กำลังจะมี “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” (หลังของเขาแค่ 30 ปีเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดได้จริงหรือเปล่า) ตอนนี้เสียจริงๆ
ที่ว่าสอดรับก็เพราะท่านเปรียบเทียบให้เห็นชัดระหว่างมาเลเซียกับไทยในวันนี้ว่ามีความต่างความเหมือนอย่างไร อย่างเป็นรูปธรรมทีเดียวเชียวหละ !
ท่านชี้ (ด้วยภาษาและท่วงทำนองนักการทูต)ให้เห็นว่า เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้อยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรที่แตกต่างกับประเทศเราเลย (คือล้าหลังเหมือนกัน) แต่เมื่อถึงวันนี้ เขาไปได้ไกลกว่าเรามาก (อย่างมีนัยยะสำคัญ) โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาหลักๆ อันได้แก่เรื่องการเศรษฐกิจ การโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาของชาติ และที่สำคัญคือเรื่องดุลยภาพทางสังคม(อันหมายถึงการจัดการกระจายความมั่งคั่งประชาชาติอย่างเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมาย และคุณภาพด้านคุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคม เป็นต้น)
“คำหลัก” (Key word) ที่ท่านทูตดำรงฯยกมาเป็นใจกลางเพื่ออธิบายถึงความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของมาเลเซียก็คือคำ “ประกาศวิสัยทัศน์ 2020” ( Vision 2020 ) หรือที่เรียกเป็นภาษามาเลย์ว่า “ Wawasan 2020” นั่นไง
วิสัยทัศน์ 2020 นั้น ใครที่สนใจเรื่องการเมืองระหว่างประเทศอยู่บ้าง ย่อมรู้ดีว่าเกิดจากสมองและฝีมือของผู้ที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบุรุษแห่งมาเลเซีย” คนสำคัญ คือท่านอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยของประเทศเพื่อนบ้านสำคัญของเรา ท่าน ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัด คนปากกล้าคนนั้นนั่นเอง!
ท่านนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัดนั้น เป็นนายกฯที่มาจากจากพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ใหญ่ที่สุด และครองอำนาจในการบริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพียงพรรคเดียวในมาเลเซีย คือพรรคอัมโน( UMNO-United Malay National Oganization) พรรคนี้เป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาแบบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 มาโดยตลอด ตั้งแต่ประเทศนี้ได้รับเอกราชจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
ต้องพูดไว้ในที่นี้เสียสักนิดหนึ่งว่า พรรคอัมโนที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ(โดยผ่านการต่อสู้อย่างเข้มข้นพอควรจากแนวร่วมแห่งชาติยุคนั้นที่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายาร่วมอยู่ด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ)โดยนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาลายา (ยุคนั้น)คือ ตนกู อับดุล รามานห์ ผู้เป็น “ลูกครึ่ง” มาเลย์ – ไทย (มีแม่เป็นสาวงามเชียงใหม่)นั้น มีลักษณะพิเศษ คือเริ่มต้นโดยการคิดถึงความเป็น “แนวร่วมประชาชาติ” (front united nation)เป็นเบื้องต้น
ที่ว่าเป็น “แนวร่วมประชาชาติ” ก็เพราะมีความพยายามประสานให้กลุ่มชาติพันธุ์สำคัญๆในมาลายา ขณะนั้นมา “หลอมรวม” เข้าเป็นพรรคเดียวในลักษณะ “ร่วมผลประโยชน์” มีกลุ่มพรรคการเมืองที่สำคัญ เช่น พรรคของกลุ่มคนเชื้อสายมาเลย์ (เป็นกลุ่มหลัก) กลุ่มเชื้อสายจีน และเชื้อสายอินเดีย เข้ามารวมกันจนกลายเป็นพรรค “องค์การสหมาเลย์แห่งชาติ” หรือ พรรค “อัมโน” ในที่สุด
และด้วยความเป็นเอกภาพนี้เองที่ช่วยทำให้ก่อเกิดสภาพการเมืองที่'นิ่ง'อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถสถาปนารูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยชี้นำ” หรือ “ไกด์แด๊น ดีโมเครซี่” ขึ้นอย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเมื่อถึงยุคของนายกรัฐมนตรีชาวไทรบุรีนาม นายแพทย์ ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัด
ซึ่งเป็นผู้ประกาศใช้ “วิสัยทัศน์สู่ประเทศพัฒนาแล้ว” ที่เรียกว่า “Wanasan 2020” จนทำให้ประเทศเพื่อบ้านอย่างมาเลเซียวันนี้ล้ำหน้าไทยไปแล้วอย่างน้อย 1 เท่าตัว (วัดเฉพาะจากรายได้ประชาติ)!!!!