เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com “โลกเก่ากำลังตาย โลกใหม่กำลังจะเกิด ขณะนี้เป็นเวลาของผีร้าย” อันโตนิโอ กรัมชี นักปรัชญาอิตาเลียน กล่าวไว้เมื่อร้อยปีก่อน ขณะนี้ดูเหมือนเป็นเวลาของผีร้ายจริงๆ คนตายด้วยโควิด-19 เป็นใบไม้ร่วงทุกวันและคงไม่หยุดง่ายๆ หายนะมาแล้ว หุ้นตกหนัก ธุรกิจน้ำมันพินาศ การประกอบการน้อยใหญ่ในทุกประเทศปิดตัว ล้มละลาย คนตกงานเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นสภาวการณ์ที่เลวร้ายที่สุดทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่มหานครน้อยใหญ่กลายเป็นเมืองร้าง อากาศในเมืองกลับสะอาดขึ้น หาดทรายขาวยาวไกลไร้ผู้คน เห็นน้ำทะเลใส สัตว์น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์ อานิสงส์โควิดที่กวาดล้างมลพิษไปจากโลก ไวรัสมาสอนว่า ถ้ามันผ่านไปแล้วก็อย่าให้โลกกลับไปสกปรกเหมือนเดิมอีก โควิด-19 มาเร่งให้สังคมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่ผู้นำประเทศจะยอมรับไฮเทคทั้งหลายง่ายขึ้น เพราะการรักษาระยะห่างและล็อกดาวน์ทำให้รู้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ 5G การพิมพ์ 3 มิติ และอื่นๆมีคุณูปการในการแก้ปัญหา พัฒนาเวชภัณฑ์และการสื่อสารมากเพียงใด เทคโนโลยีการเงินจะเร่งเร็วขึ้น เงินสดจะน้อยลง การทำธุรกรรมทางมือถือจะมากขึ้น ธนาคารจะเหลือสาขาอยู่ไม่กี่แห่ง การเงินระบบใหม่กำลังปรากฏตัว บ้านจะกลายเป็นสถานที่สำคัญมากกว่าเดิม เรียนที่บ้าน ทำงานที่บ้าน ประชุมทางไกลจากที่บ้าน ซื้อของจากที่บ้าน บ้านจะเป็นวิมานหรือเป็นนรกก็แล้วแต่ใครจะปรับตัวได้ดี ด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ต้อง “รีแซ็ต” เป็นอะไรที่เรียกกันว่า “ชีวิตปกติแบบใหม่” (new normal) คนวันนี้มีคำถามากกว่าคำตอบว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร นักวิเคราะห์สังคมเปรียบเทียบวันนี้กับเมื่อปี 1941 เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มหาอำนาจเริ่มหารือกันว่า ถ้าสงครามจบจะจัดระเบียบโลกใหม่อย่างไร เมื่อสงครามจบในปี 1945 โลกก็มีระเบียบใหม่อย่างที่พวกเขาได้ออกแบบ โลกที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่โลกหลังโควิด-19 จะเป็นโลกใหม่ไม่เหมือนเดิม คนที่จะจัดระเบียบโลกใหม่จะไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างเมื่อปี 1941 เพราะโลกวันนี้มีคนเก่งมากมายในทุกวงการ ไม่มียุคใดที่มีผู้รู้และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเท่าวันนี้ มีเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมต่อผู้คนอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงเครือข่ายผู้รู้ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ มากกว่ายุคสมัยใด ในปี 1941 การออกแบบระเบียบโลกใหม่กระทำโดยผู้นำกลุ่มหนึ่งแบบ “top down” พวกเขาคิดและตัดสินใจด้วยวิสัยทัศน์ของตนเอง วันนี้จะแตกต่างไปจากนั้นอย่างแน่นอน เพราะแบบแผนโลกใหม่จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ “มาจากข้างล่าง” (bottom up) เท่านั้น เป็นคำยืนยันของนักวิเคราะห์สังคมทั่วโลก วันนี้ “อำนาจ” ไม่ได้อยู่ “ข้างบน” แล้ว แต่อยู่ “ข้างล่าง” อยู่ที่ “ประชาชน” คือผู้คนทั่วไป คือ เราเองที่ต้องเป็นผู้กำหนดว่า สังคมในอนาคตจะเป็นเช่นไร องค์การสหประชาชาติได้มีปฏิญญาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน 2015-2030 ที่เรียกว่า Sustainable Development Goals (SDG) 17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายรอง โดยมีกรอบใหญ่ 3 กรอบ คือ จากล่างขึ้นบน (Bottom Up) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) และ ความพอเพียง (Sufficiency) “ล่างขึ้นบน” หมายถึงการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ชุมชนเป็นฐาน ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ที่ผู้นำ ข้าราชการ นายทุน จะมากำหนดเหมือนเป็น “เจ้าของสังคม” ไม่ได้ เพราะนั่นคือ “top down” ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นข้อจำกัดมากมาย วิกฤติโควิด-19 ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของการตัดสินใจแบบ top down มาแล้ว “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หมายถึงการให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับคน 5 กลุ่ม คือ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนชายขอบที่ขาดโอกาส “ความพอเพียง” หมายถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ ที่เชื่อว่าจะเป็นรากฐานของสังคมที่พอเพียง พึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเองได้ ใช้ความรู้ในการตัดสินใจ การจัดการชีวิตและสังคม มีภูมิคุ้มกันเข้มแข็งทั้งครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ เหล่านี้คือเงื่อนไขที่จะทำให้โลกใหม่เกิดเป็นจริงได้ โลกที่โรคระบาดนี้มาช่วยเร่งให้เร็วขึ้น เพราะโควิดตัวนี้เป็นเหมือนสปอตไลต์ที่ส่องให้เห็นชัดเจนว่า โลกมาถึงจุดวิกฤตินี้ได้อย่างไร ขนาดปัญหาโรคร้อนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกายังปฏิเสธว่าไม่จริง เป็นเรื่องปั้นแต่ง หรือโควิด-19 ตอนต้นเขายังบอกว่าเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่เท่านั้น แต่วันนี้โควิดกำลังสั่งสอนเขาและผู้นำอีกหลายคนที่ท้าทายและไม่ยอมรับ คนเหล่านี้อาจจะถูกกวาดไปจากเวทีโลกเช่นเดียวกับมลพิษ ขยะธรรมชาติ ขยะสังคมอีกจำนวนมาก หากไม่ยอมปรับตัว ไม่ฟังเสียงของประชาชน ยังผูกขาดการตัดสินใจ ยังหลงว่าตนเองมีอำนาจ สังคมใหม่ของไทยจะอยู่ที่การเกษตร การท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวนิเวศ วิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากที่ไม่ใช่ฐานของนายทุน แต่ฐานของสังคมที่แท้จริง เพราะเหล่านี้คือจุดแข็งข้อได้เปรียบของสังคมไทย ชนบทไทยจะต้อนรับคนกลับบ้านไปทำการเกษตร ธุรกิจการเกษตร ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การประกอบการขนาดเล็กขนาดจิ๋ว ไปอยู่ในที่กว้างขวาง ท้องทุ่งไร่นา อากาศดี ไม่มีมลพิษ ไม่แออัดยัดเยียด แย่งกันกินแย่งกันหายใจเหมือนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ห่างไกลจากไวรัสและโรคติดต่อ คือโลกใหม่ที่น่าอยู่ สร้างโดยคนเล็กๆ งานเล็กๆ ที่รวมกันแล้วเกิดพลังยิ่งใหญ่ จนสามารถเปลี่ยนโลกได้ ด้วยอานิสงส์ของโควิด ที่ฟ้าลิขิตให้มาช่วยเร่งปฏิกิริยา