องค์การอนามัยโลก ออกมาเตือนผ่านทวิตเตอร์ว่า ยังไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันว่า ผู้ที่หายป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันโรค หรือแอนติบอดี (Antibody) อันส่งผลให้ร่างกายของผู้นั้นไม่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ซ้ำอีก พร้อมกับแสดงความวิตกกังวลต่อกรณีที่ผู้หายป่วยแล้ว จะไม่ยอมปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์หลังออกจากโรงพยาบาล จนอาจส่งผลให้บุคคลนั้นกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคแก่ผู้อื่นไปโดยไม่รู้ตัว
องค์การอนามัยโลก ยังแสดงความเป็นห่วง เรื่องการออกใบรับรองจากทางแพทย์ให้แก่ผู้ป่วย ที่ระบุว่า จะไม่เป็นผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องที่ทางแพทย์ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งด้วย
เรื่องนี้ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเพิ่มเติมในเพจเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan มีใจความตอนหนึ่งว่า
จากการศึกษาในปัจจุบัน (24 เมษายน) ยังไม่มีรายงานใดที่จะบอกได้ว่าการมีภูมิต้านทานจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำได้อีก ขณะที่การตรวจภูมิต้านทานที่อยู่ในท้องตลาด จำนวนมากเป็น rapid test หรือตรวจได้อย่างรวดเร็ว จะต้องคำนึงถึง ความถูกต้องของการตรวจที่มีทั้งผลบวกปลอม และผลลบปลอม ซึ่งจะสร้างความสับสนในการแปลผล เพราะการตรวจภูมิต้านทานไม่สามารถเอามาใช้ในการวินิจฉัย การติดเชื้อของผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกได้ ต้อง 1-2 อาทิตย์ไปแล้ว
ทั้งนี้การตรวจได้ผลลบ ไม่ได้บอกว่าผู้นั้นไม่มีการติดเชื้อ การตรวจหาเชื้อที่หลังโพรงจมูกยังเป็นวิธีมาตรฐาน ผู้ป่วยอาจจะติดเชื้อมีเชื้ออยู่แล้วแต่ภูมิต้านทานยังไม่ขึ้น ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในระยะนี้ ในขณะที่การตรวจได้ผลบวก ก็ยังมีผลบวกปลอม เพราะยังมี coronavirus ตัวอื่นๆ อาจจะให้ผลบวกปลอม โดยยกตัวอย่างการระบาดที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่าครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ และการตรวจเชื้อ จะพบได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการเมื่อติดตามแล้ว มีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการ และยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ (NEJM; April 24, 2020) ดังนั้น การตรวจกรองหาผู้ติดเชื้อ จึงควรใช้วิธีการตรวจหาเชื้อ มากกว่าที่จะใช้วิธีการตรวจหาภูมิต้านทาน ซึ่งขณะนี้มีการนำเอาการตรวจหาภูมิต้านทานไปตรวจตามโรงงาน เพื่อหาการติดเชื้อ จะไม่มีประโยชน์ในการค้นหาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เพื่อการควบคุมการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะโรงงานหรือแหล่งชุมชน
ศ.นพ.ยง ระบุด้วยว่าการตรวจเกมรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายเชื้อ จำเป็นจะต้องใช้วิธีตรวจหาเชื้อด้วยกระบวนการ PCR ถ้าบริหารจัดการให้ดีในอนาคต ค่าตรวจควรจะลดลงได้มากกว่านี้มาก ประเทศไทยสามารถพัฒนาชุดตรวจได้เอง อย่างที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำ และ แทนที่จะตรวจ 2 gene ถ้าตรวจเกมรุกเป็นการตรวจกรอง อาจจะตรวจ gene เดียวก็พอ ถ้าให้ผลบวก แล้วจึงค่อยตรวจยืนยันอีกครั้งเหมือนการตรวจไวรัสตัวอื่นๆที่รู้จักดี เราก็ตรวจยีนส์เดียว โควิด 19 ปัจจุบันเป็นโรคที่รู้จักดีแล้วในการตรวจ
อย่างไรก็ตาม มาถึงตรงนี้เราเห็นว่า ภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส-19ที่ดีที่สุด ยังจำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากทางเลือก เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง
หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของทุกคนแล้ว เราจะสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัย