ในสงครามโควิด ที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ก้าวย่างเข้าสู่สมรภูมิรบกับศัตรูที่มองไม่เห็น แต่ละประเทศพลิกตำรารบกันในทุกรูปแบบเพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายแรงนี้
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เตือนว่า โรคโควิด-19 ร้ายแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ถึง 10 เท่า เนื่องจากมีการแพร่กระจายเร็วกว่ามาก และเมื่อแพร่กระจายแล้ว ก็ชะลอการกระจายช้ากว่ามาก อีกทั้งโลกยังต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไปอีกนาน แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดในภูมิภาคยุโรปตะวันตกจะเริ่มชะลอตัวลงก็ตาม แต่ปรากฏว่า ในภูมิภาคแอฟริกาอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ กลับมีแนวโน้มของการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีรายงานด้วยว่า พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงในอัตราร้อยละ 250 – 300 ในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น
ในขณะที่ประเทศต่างๆ ยังอยู่ระหว่างลองผิดลองถูกในการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพออกมาต่อสู้กับเชื้อไวรัส อีกด้านหนึ่งก็มีรายงานว่าเชื้อไวรัสก็มีพัฒนาการเพื่อเอาชนะมนุษย์เช่นกัน
กระนั้น สถานการณ์ของหลายประเทศในยุโรป ยังใช้มาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ะระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดลงบ้างแล้ว เช่น สเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา แต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ได้ตัดสินใจขยายมาตรการปิดประเทศออกไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม แต่ให้ยกเลิกมาตรการเข้มงวดบางอย่างที่บังคับใช้กับเด็กๆ โดยตั้งแต่วันที่ 27 เดือนเมษายนนี้ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี สามารถออกไปทำกิจกรรมบางอย่างพร้อมกับผู้ปกครองได้ เช่น การออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปธนาคาร หรือไปร้านขายยา แต่ยังไม่อนุญาตให้เล่นกับเพื่อนๆ โดยผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานของตนอย่างใกล้ชิด
ส่วนสิงคโปร์ ที่เคยได้รับเสียงชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งนั้น ต้องพบปัญหาการระบาดหนักครั้งใหญ่ จากกลุ่มแรงงานต่างด้าว จนยอดผู้ติดเชื้อโควิดสูงสุดในอาเซียน ล่าสุดได้ขยายเวลาล็อกดาวน์จากเดิมกำหนดสิ้นสุดวันที่ 4 พฤษภาคม ออกไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน พร้อมยกระดับมาตรการคุมเข้มทางสังคมให้เข้มงวดมากขึ้น
เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีกระแสเรียกร้องกดดันให้ผ่อนคลายมาตรการ เพื่อปลดล็อกให้มีกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจดังขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ยกเงื่อนไขในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่การประกาศว่า รัฐบาลที่ต้องการลดระดับมาตรการการควบคุมโรค จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ข้อ ดังนี้
1. สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้แล้ว 2. ระบบสุขภาพต้องสามารถ “ตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค” 3. มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา 4. โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ 5. สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ และ 6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค
เราเห็นว่า ต้องยึดหลักเกณฑ์ 6 ข้อขององค์การอนามัยโลกเป็นหลักในการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แม้สถานการณ์ของประเทศไทยอาจมาถึงจุดที่เรียกได้ว่า “เอาอยู่” แต่ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันได้ ว่าป้อมปราการที่สร้างขึ้นจากมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินมานั้น หากผ่อนคลายลงแล้วป้อมจะไม่ถูกตีแตก