เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ว่าจะตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ฐานันดรสื่อไทย” แต่วันนี้คนทั่วไปคงไม่สนใจคำว่าฐานันดรที่สี่ ที่เคยยกให้สื่อตามแบบอย่างอังกฤษที่ยกให้ขุนนาง พระ ผู้แทน เป็นสามฐานันดรแรก และสื่อมวลชนเป็นที่สี่
เรื่องศักดิ์ศรีของสื่อน่าสนใจกว่า เพราะสื่อจะเป็นอะไรขึ้นอยู่กับคุณภาพของสื่อ การยอมรับของสังคม เพราะ “ไม่ใช่ตำแหน่งที่ให้เกียรติคุณ แต่เป็นคุณที่ให้เกียรติตำแหน่ง” ออกกฎหมายมาคุมสื่อ ตั้งสภาตั้งสมาคมมาดูแลกันเอง ก็ดูเหมือนไม่ค่อยได้ผล เพราะมีปัญหาก็ลาออก ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น
สื่อมีความสำคัญเพราะเป็นตัวแทน เป็นปากเสียงของประชาชน เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพในการแสดงออก ในสังคมประชาธิปไตย เป็นผู้ที่ถูกคาดหวังว่าจะทำการ “ตรวจสอบ” สร้างความโปร่งใสการใช้อำนาจในสังคม โดยเฉพาะทางการเมือง จึงมีเรื่องราวระหว่างอำนาจกับสื่อตลอดมา
ที่อยากเขียนวันนี้ไม่ใช่ประเด็นนี้และด้านนี้ อยากดูบทบาทของสื่อในการสร้างค่านิยมให้สังคมผ่านรายการต่างๆ ทุกอย่างที่ปรากฎในสื่อมวลชน รวมไปถึงละครน้ำเน่าน้ำดี กีฬาเลือดท่วมจอตื่นเต้นเร้าใจ
ยังเกมสนุกสนานปัญญาอ่อน การประกวดร้องเพลงทุกช่องนับสิบๆ รายการ ฟังจนเบื่อ และเอียนกับการเขียนบทแบบดราม่า จนไม่รู้ว่าประกวดร้องเพลงหรือประกวดเรื่องราวสะเทือนใจให้คนดูร้องไห้สงสาร ทุกรายการก็ล้วนแต่ “สื่อ” สาระบางอย่างและหลายอย่างให้ผู้คน
เห็นพัฒนาการของการทำข่าว การเจาะข่าว การสืบสวนข่าว การทำสารคดีที่เจาะลึกแปลกใหม่ของบางช่อง แต่ก็ยังเห็นการทำงานแบบสุกเอาเผากิน ไม่หาข้อมูล ไม่ทำการบ้าน ซึ่งง่ายที่จะจับได้ เพราะคนเข้าไปเช็คข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา หรือไม่ก็เช็คไปที่ต้นตอของข่าวโดยตรง
อย่างพาดหัวว่า “หลังคาตึกเรียนธรรมศาสตร์พังลงมา นักศึกษาหวิดดับ” เป็นการเขียนแบบย้อนยุคเอามากๆ นึกว่าจะขายข่าวและเรียกแขกเข้าอ่าน กลับเป็นผลตรงกันข้าม เพราะใครๆ ก็เช็คข่าวได้จากคลิปที่ส่งกันไปทั่วทันทีว่า ไม่ได้มีใครอยู่ในห้องเรียนนั้น แล้วจะหวิดดับได้อย่างไร
เหมือนกับเมื่อสักสี่สิบปีก่อน ตอนกำลังมีการหาเสียงเลือกตั้ง มีหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่งพาดหัวตัวเท่าหม้อแกงว่า “ยิงผู้สมัครส.ส.” เข้าไปอ่านในเนื้อหาพบว่า มีการยิงปืนขึ้นฟ้าห่างจากเวทีที่ผู้สมัครส.ส.กำลังพูดอยู่ครึ่งกิโล อย่างนี้ก็เขียนได้เพื่อขายหนังสือพิมพ์
วันนี้สื่อกำลังเปลี่ยนแปลงและปรับตัว เพราะทำแบบเดิมๆ คงอดตายและต้องปิดตัวเหมือนที่ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศและของไทยได้ปิดตัวลงไปแล้วจำนวนมาก เพราะการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย โลกอินเทอร์เน็ต แหล่งข่าวแหล่งข้อมูล การสือสารเรียลไทม์ เกิดอะไรขึ้นที่ไหนเมื่อไรรับรู้ได้ทันทีทั่วโลก
หรือไม่ก็ส่งต่อกันหลังจากเกิดเหตุได้ไม่นาน ไม่ใช่รอให้ผู้สื่อข่าวกลับไปโรงพิมพ์ หรือส่งแฟกส์ส่งอีเมลไปให้กองบก. หรือให้ผู้สื่อข่าวทีวีกลับสถานี ซึ่งช้าไม่ทันกินแล้ว เราถึงเห็นทีวีทุกช่องต่างก็นำเอาคลิปจากสื่อสังคมมา “ออกต่อ” มาพูดถึงและขยายความในทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์
สื่อมวลชนใหญ่ระดับโลกวันนี้ที่อยู่ได้ก็คงเป็นเพราะ 2 อย่าง อย่างแรกคือการเสนอข่าวทันทีทันใด ถ่ายทอดสดจากที่เกิดเหตุ ทำให้คนติดตามได้อย่างใกล้ชิด breaking news เรียกเรตติ้งดีนัก
อย่างที่ 2 คือ การวิเคราะห์ข่าว ซึ่งคนที่ติดตามสื่ออยากรู้ต้นสายปลายเหตุ ที่มาที่ไป ตื้นลึกหนาบาง ความเชื่อมโยงกับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ถ้าทำการวิเคราะห์เจาะลึกได้ดีก็เรียกคนดูได้มาก อย่าง CNN, BBC ที่เน้นการวิเคราะห์ข่าวและเสนอ “ข่าวด่วน” เกือบตลอดเวลา
สื่อไทยยังสะเปะสะปะเรื่องการถ่ายทอดสด ยกโขยงไปถ่ายทอดสดคนที่กำลังจนมุมที่โรงแรมม่านรูดหลายชั่วโมง ถ่ายทอดสดการเจรจาอย่างใกล้ชิด จนจบด้วยโศกนาฎกรรม และสื่อบางรายถูกสอบสวนและถูกตักเตือนว่า “ไม่รู้กาละเทศะ” ซึ่งเป็น “จริยธรรม” ที่ต้องพัฒนา
การทำสารคดีเรื่องราวในชนบท วิถีชีวิตชาวบ้าน ท่องเที่ยวชุมชน อาหารการกิน แข่งขันกันทำได้หลากหลาย แต่ดูไปดูมาก็จำเจและุมักง่าย เหมือนดูถูกคนดู ผิวเผิน ไม่เชื่อมโยงไปถึงคุณค่าที่ลึกกว่า เพราะขาดการวิเคราะห์ ไม่มีกรอบคิด ลองนำสารคดีที่คนไทยทำเรื่องชีวิตชาวบ้านไปเปรียบกับสารคดีเกาหลีที่มาทำที่เมืองไทยในรายการชุด “ความลับแห่งเอเชีย” และ “ทึ่งทั่วโลก” ที่อมรินทร์ทีวีช่อง 34 นำมาถ่ายทอด จะพบความแตกต่างในเนื้อหารายละเอียดและคุณภาพอย่างชัดเจน
จะอ้างว่าเขาลงทุนสูงกกว่าก็ว่าได้ แต่เขาคงวิจัย เจาะลึก เตรียมตัวเตรียมการอย่างละเอียดมากกว่า เวลาทำก็ทำให้ดูเป็นธรรมชาติ เหมือนกับเป็นตัวแทนนำผู้ชมไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน เขาทำแบบมีกรอบคิดที่ชัดเจนมากกว่า ดูเรียบง่ายและสบายใจ สารคดีของเขาขายได้ทั่วโลกแน่นอน
ก็อาจเป็นได้ ที่ “คนอยู่บนภูเขามักไม่เห็นความงามของภูเขา” คนไทยอยู่ใกล้ของดีไม่เห็นของดี เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ ไม่มีแว่นขยาย ไม่หามุมมองที่เหมาะสม
ยุคสมัยที่สื่อมีปากกาเป็นอาวุธผ่านไปแล้ว คนที่มีอาวุธวันนี้เป็นประชาชนที่มีมือถือต่างหาก สื่อที่ฉลาดและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจะอยู่รอดได้