ในทุกเช้าที่มีการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด)หรือ ศบค. ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายฝ่ายเริ่มมีความสุขมากขึ้น กับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
กระแสชื่นชมแนวทางการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด จากสังคมโลกมีอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นจากองค์การอนามัยโลก ที่ชื่นชมระบบการดูแลสุขภาพที่สามารถเข้าถึงระดับครอบครัวจากเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.ที่มีอยู่กว่า 1,040,000 คน
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีหรัฐอเมริกา กล่าวว่าไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีรายชื่อ10อันดับประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้ดี
นายเจเรมี ฮันต์ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า ไทยประสบความสำเร็จในการจัดการควบคุมโรค โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ social distancing ทำให้รัฐบาลไทยสามารถควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงวันนี้ที่ไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ กว่า 3 เดือนในสมรภูมิโควิด นับแต่วันที่ มีรายงานพบผู้ป่วยโควิดรายแรกในประเทศไทย ผ่านความทุ่มเทของบุคคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในมาตรการต่างๆ อาสาสมัคร และประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ตั้งคำถามต่างๆนานาว่า ทำไมประเทศไทยไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้
เรื่องนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เขียนอธิบายไว้ได้ชัดเจน จึงขอยกเอาความบาตอนมานำเสนอ
“ไม่มีประเทศไหนที่เหมือนกัน ในขณะที่ท่านตั้งคำถามถามประเทศของท่านเองว่า ทำไมตรวจน้อย ทำไม
ไม่ใช้แอ็ป หรือเทคโนโลยีขั้นสูงมาทำโน่นทำนี่ ทำไมไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงไปเลย เอาให้หนักๆ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้
ท่านทราบมั้ยครับว่า ประชาชนประเทศอื่นเขาก็ตั้งคำถามประเทศของเขาเหมือนกันว่า ทำไมประเทศเขาถึงไม่มี อสม. 1 ล้านคนที่พร้อมเต็มใจเข้ามาช่วยทำงานทุกอย่างทั้งติดตามผู้ต้องกักกันตัว ทั้งให้ความรู้ประชาชน ทั้งเป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ทำไมประเทศเขาไม่มีนักระบาดวิทยาและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่มีความรู้ความสามารถที่ทุ่มเททำงานเต็มกำลังความสามารถอย่างเพียงพอ ทำไมคนของเขาถึงไม่ใส่หน้ากากอย่างกว้างขวางกันเกือบทุกคน ทำไมประเทศเขาไม่มีเจลแอลกอฮอล์วางอยู่ทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำไมคนของเขายังออกนอกบ้านทั้งที่มีประกาศห้าม ทำไมบ้านเขาไม่มีคนที่มีน้ำใจออกมาแบ่งปันข้าวของจำเป็นให้คนด้อยโอกาส
ในขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ถ้ามองย้อนกลับไป จะพบว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคไม่มีประเทศไหนที่ดำเนินการเหมือนกันทุกอย่าง....ไม่มีประเทศไหนที่มีต้นทุนเท่ากันครับ”
มาถึงจุดนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่า มาตรการที่ดำเนินมานั้น เหมาะสม พอเหมาะ พอควรกับบริบทของไทย และสามารถเป็นแบบอย่างในการรับมือให้กับประเทศอื่นๆที่กำลังเผชิญกับวิกฤติได้ แม้จะยังมีเดิมพันสูงหลังคลายล็อค ที่จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าไทยจะสามารถรอดพ้นจากการแพร่ระบาดคลื่นสูงที่สองไปได้หรือไม่ ไม่กลับมาระบาดหนักเหมือนเช่นประเทศอื่น