วันที่ 30 เมษายนนี้ จะเป็นวันครบกำหนดการประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ หลังจากที่ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 26มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้าโจมตีประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อต้นปี เป็นต้นมา จนทำให้วันนี้ ประเทศไทยซึ่ง ถือเป็น "ทีมไทยแลนด์" จากความร่วมมือของทุกๆฝ่าย สามารถ วางใจได้ระดับหนึ่งว่า "เอาอยู่!" จากการออกมาเปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประจำวันที่ 23เมษายน ระบุว่าไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,839 ราย หายป่วยแล้ว 78 ราย รวม 2,430 ราย หมายความว่า วันนี้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผู้อำนวยศบค.ได้ตรึงสถานการณ์ ไม่ให้ไทย เลี้ยวไปสู่ "จุดวิกฤติ" เหมือนกับที่หลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญหน้า ถึงขั้นส่งผลกระทบต่อระบบการแพทย์ของหลายประเทศที่ระบบไม่สามารถรองรับผู้ป่วย ได้เพียงพอ หรือแม้แต่การเกิดภาพที่ผู้คนเสียชีวิต ในหลายประเทศ จนทางการแทบไม่มีสถานที่เก็บและฝังร่างผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด แต่ถึงกระนั้นการใช้มาตรการ "กึ่งล็อคดาวน์" ของไทย ที่ผ่านมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะวันนี้ปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ได้ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อกิจการห้างร้าน ต้องปิดตัวลง ส่วนหนึ่งมาจาคำสั่งภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และเมื่อรัฐบาลออกมาตรการเยียวยา ด้วยกันหลายทาง เพื่อต้องการช่วยเหลือคนหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ต่อชีวิต ความเป็นอยู่ ขาดรายได้ แต่ดูเหมือนว่าการเยียวยายังคงเกิดปัญหา และไม่ครอบคลุมมากพอ กลายเป็นว่าเวลานี้ "แรงกดดัน" จากกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย ไปจนถึงเจ้าของกิจการห้างร้าน ที่ต้องพักกันยาว เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และแปรเปลี่ยนมาสู่ ความต้องการให้รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการที่เข้มข้น ลงบ้าง ก่อนที่ผู้คนจะ "อดตาย" ก่อนที่จะติดโควิด-19 กระแสข่าวที่ผุดขึ้นมาจนทำให้ "นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน" โฆษกศบค. ต้องตอบคำถามอยู่บ่อยครั้ง ว่าจะมีกลุ่มจังหวัด หลายสิบจังหวัด อาจจะได้รับการปลดล็อค นั้น ไม่เป็นความจริง หรือแม้แต่การที่มีข่าวระบุว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ บรรดาห้างร้าน ธุรกิจขนาดใหญ่เตรียมจะเปิดทำการ ก็ยังไม่มีข้อสรุปใดๆออกมา ต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมครม.และศบค.ก่อนเท่านั้น ! ขณะที่เสียงเรียกร้อง ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับความเดือดร้อนที่ปรากฎชัดเจนว่าผู้คนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดงานขาดรายได้ แต่ในเวลาเดียวกันต้องไม่ลืมว่า การตัดสินใจที่จะต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯออกไปอีกหลังวันที่ 30เมษายนไปแล้ว หรือการคงและผ่อนปรนมาตรการบางอย่าง จะต้องไม่กระทบต่อ "งานใหญ่" ที่ "ทีมแพทย์" ได้ต่อสู้จนทำให้ไทยไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ด้วยเช่นกัน สิ่งที่นพ.ทวีศิลป์ ย้ำอยู่หลายครั้ง นอกจากเราจะต้อง "การ์ดไม่ตก"แล้ว ยังต้องยืนให้ครบ 12ยกให้ได้อีกด้วย ไม่อย่างนั้น ประเทศไทย จะต้องกลับไป "นับหนึ่ง"กันใหม่ทั้งหมด ล่าสุดมีสัญญาณที่ "นายกรัฐมนตรี" ต้องรับฟัง นั่นคือ การออกมาระบุจาก " พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา" เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ว่าฝ่ายความมั่นคงเห็นควรให้ "ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ออกไป เพราะสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย ส่วนเมื่อต่ออายุออกไปแล้ว จะมีมาตรการผ่อนปรนอย่างใดตามมาเพื่อ "ผ่อนคลาย" ความตึงเครียดก็ต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมครม. ต่อไป