สมบัติ ภู่กาญจน์ เราควรจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับ ‘การควบคุมดูแล’สื่อสารมวลชนไทย?ประเด็นสำคัญของปัญหานี้ น่าจะอยู่ที่ความหมายของคำว่า ‘การควบคุมดูแล’ นั่นเป็นประการที่หนึ่ง ถ้าการควบคุมดูแล – ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโดยบทบัญญัติที่เขียนไว้ในกฎหมาย หรือการใช้กฎหมายในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็ตามที – จะมีทางนำไปสู่การ ‘จำกัด’หรือ ‘ริดรอน’ สิทธิและเสรีภาพ ของผู้คนหรือของกลุ่มชนที่มิได้ทำผิดกฎหมายใดๆแล้ว ความคิดที่จะควบคุมดูแลสื่อด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ก็ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง นี่คือเหตุผลที่น่าพิจารณา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยอภิปรายถึงเรื่องนี้ไว้ในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่สมัยที่เริ่มเข้าสู่วงการเมืองเป็นครั้งแรก ในฐานะผู้แทนราษฎรเขตสองของจังหวัดพระนคร เมื่อปีพ.ศ. 2489 ว่า “การเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งอาจจะขยายความต่อไปได้ถึงสิทธิและเสรีภาพของสื่อสารมวลชนหรือหนังสือพิมพ์ด้วยนั้น เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงอยู่ เพราะรัฐบาลที่ข้าพเจ้าร่วมด้วยมาเมื่อครั้งที่แล้วนั้น ได้เคารพสิทธินี้เป็นอันมาก และไม่เคยพยายามที่จะแตะต้องด้วยประการใดๆทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจึงอยากจะถามท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ว่าสิทธิที่ข้าพเจ้าพูด ซึ่งอาจขยายความต่อไปถึงสิทธิที่จะเขียนแสดงความคิดเห็นด้วยนั้น รัฐบาลจะรับรองได้หรือไม่ประการใด ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า ถ้ารัฐบาลรับรองและสนับสนุนสิทธินี้ รัฐบาลก็จะต้องฝึกความอดทนให้มากกว่านี้ รัฐบาลอาจจะต้องข่มกิเลสต่างๆ เป็นต้นว่าความโกรธ ความเกลียด ความโมโหอีกเป็นอันมาก เพื่อสนับสนุนสิทธินี้ให้ดำรงคงอยู่ต่อไป ท่านยินดี หรือพร้อมที่จะอดทนเพื่อให้สิทธิเสรึภาพเหล่านี้เกิดขึ้นโดยแท้จริง หรือเพื่อที่จะให้สิทธินี้ได้ดำรงคงอยู่ต่อไปหรือไม่ นั่นเป็นประการสำคัญที่สุด” ฟังชัดถ้อยชัดคำดีไหมครับ? นี่คือคำพูดของผู้ที่ ‘หวังดีต่อชาติบ้านเมือง’ในอดีต เขาคิดเคยทำและเคยพูดถึงกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ประชาธิปไตยในเมืองไทยอายุยังไม่ถึงสิบห้าปี เดี๋ยวนี้ประชาธิปไตยเมืองไทยอายุแปดสิบห้าปีแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ยังคงมีการพูดถึงกันอยู่อีก น่าสงสารไหมครับ?! ในงานศึกษาวิจัยทางวิชาการ อาจารย์สุกัญญา สุดบรรทัด แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยศึกษาเรื่องราวชีวิตและผลงานของอาจารย์คึกฤทธิ์ไว้เมื่อราวๆปี พ.ศ.2533 ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ ณ ขณะนั้น ได้เขียนถึงผลงานและความคิดของอาจารย์คึกฤทธิ์ ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องตอนนี้ไว้ว่า “นั่นเป็นคำสอนที่คึกฤทธิ์มอบไว้ให้แก่รัฐบาล สมัยที่เขาเป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภาฯตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ซึ่งผลที่ได้รับก็คือ รัฐบาลไม่อาจทนต่อความเจ็บปวดเช่นนั้นได้ ดังนั้น การมอบเสรีภาพให้แก่ประชาชนจึงเป็นแต่เพียงลมปาก ยิ่งกว่านั้นคนในรัฐบาลบางคนยังมองเห็นว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์นั้นก็เป็นเพียง ‘เสียงนกเสียงกา’ (ซึ่งคำพูดคำนี้ออกจากปากของคนในรัฐบาลจริงๆ เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ช่วงปี 2501 ก่อนที่รัฐบาลจอมพลป.จะสูญอำนาจไปไม่นานนัก)” “แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ คึกฤทธิ์ให้ความเห็นใจรัฐบาลอยู่มากพอสมควร เขาเข้าใจดีถึงความเจ็บปวดที่รัฐบาลจะต้องอดทนอยู่กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ หลังจากที่เขาได้ผ่านการเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร ด้วยการได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหนึ่ง เขาคงได้รับการเรียนรู้รสชาติเช่นนี้อยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้น เขาก็มิได้คิดควบคุมหนังสือพิมพ์ด้วยประการใดๆ ในทางตรงกันข้าม เขากลับส่งเสียงเรียกร้องให้หนังสือพิมพ์คำนึงถึงจรรยาบรรณให้มากขึ้น ให้พยายามใช้เสรีภาพกันในทางที่ถูกต้อง เพราะถ้าหนังสือพิมพ์ไม่ทำเช่นนั้นแล้ว การทำหน้าที่สื่อสารมวลชนก็จะไม่มีประโยชน์ ดังคำพูดที่เขาเคยเปรียบเทียบไว้ว่า เสมือนว่ามีช้อน แต่หาแกงไม่พบ แล้วจะมีประโยชน์อะไร?” ผมมองเรื่องราวเหล่านี้ ขณะที่คิดถึง ‘โมเดลคึกฤทธิ์’ ว่า ผลงานจาก ‘ความคิดและการกระทำ’ หลายอย่าง ที่เรามองเห็นจากชีวิตและผลงานของอาจารย์คึกฤทธิ์ นั้น เป็นสิ่งที่เราน่าจะนำมาใช้ในการคิดหรือการกระทำ สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แม้กระทั่งเรื่องของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ ที่สื่อมวลชนไทยยุคปี 2560 กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ในปัจจุบัน ‘โมเดลคึกฤทธิ์’ มีแนวทางในการคิดและพิจารณาได้ตั้งแต่คำถามประโยคแรกซึ่งผมขึ้นไว้ที่ต้นเรื่อง เรื่อยไปจนถึงวิธีคิดและวิธีทำอีกสารพัดรูปแบบ ที่อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของ ‘ความเป็น(คน)สื่อฯ’ ทำหน้าที่ให้คนในสังคมไทยได้มองเห็น-และยอมรับ มาจนตลอดชีวิตของท่าน ที่สิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2538 ซึ่งห่างไกลจากวันนี้มาแล้วมากกว่ายี่สิบปี ในข้อเขียนของอาจารย์สุกัญญา ที่ผมนำมาอ้างถึง อาจารย์สุกัญญา ‘ตัดต่อหนัง’เร็วไปนิดหนึ่ง คืออ้างถึงปี2489 แล้วก็อ้างเลยมาถึงปี 2518 ที่คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงเวลา 30 ปีนี่แหละครับ ที่ยังมีรายละเอียดในเรื่องความคิดและการกระทำตามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ที่ผมเรียกว่าเป็นโมเดลคึกฤทธิ์ มากล่าวถึงได้อีกหลากหลายรูปแบบ และมากมายด้วยวิธีการสารพัดสารพัน ผมยังจำได้ครับว่า อาจารย์คึกฤทธิ์เคยสอนผมว่า เมืองไทยนั้นประกอบด้วยคนไทย และปกครองโดยคนไทย คนที่จะคิดแก้ปัญหาในเมืองไทยให้ได้ผล จะต้องรู้จักและเข้าใจคนไทยให้ดีด้วย อย่าหลงคิดหรือติดแต่ทฤษฎีฝรั่งจนเกินไป เพราะบางครั้งอาจเจอปัญหาแบบไทยๆที่แก้ได้ไม่ง่ายอยู่เหมือนกัน. อีกทั้งอย่าลืมว่า คนที่ชอบคิดและติดจนหลงเชื่ออะไรง่ายๆ นั่นก็เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของคนไทยด้วย ที่แม้แต่คนที่ติดฝรั่งอยู่เอง จะเคยคิดหรือตระหนักบ้างหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน คำสอนเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีคิดแบบคึกฤทธิ์ทั้งนั้นครับ ถ้าใครสนใจ ก็คอยติดตามอ่านกันต่อไปเถอะครับ แล้วบางทีท่านอาจจะพบว่า แม้ว่าโลกแห่งเทคโนโลยีจะก้าวหน้าจากอดีตมากขึ้น แต่ความคิดของคนไทยบางคน ยังไม่ก้าวผ่านอดีตมารับกับสิ่งใหม่ในปัจจุบันได้เลย ในเรื่องหลายๆเรื่อง