ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ข่าวเด่นข่าวดังของสื่อสารมวลชนในขณะนี้ คือ ข่าวของ พรบ. ควบคุมสื่อฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของ สปท. ไปแล้ว แต่องค์กรด้านสื่อและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาหลายมาตราโดยเฉพาะขาดความเป็นอิสระของสื่อสารมวลชนในยุคประชาธิปไตย
องค์กรด้านสื่อสารมวลชน จึงยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อถอน พรบ. ควบคุมสื่อดังกล่าวออกมาก่อน และขอมีส่วนในการพิจารณาทบทวน พรบ. กันใหม่ เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลตระหนักถึงเจตนารมณ์ของสื่อสารมวลชนที่เป็นผู้สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสะท้อนการบริหารงานของรัฐบาลในมิติของการสร้างสรรค์เพื่อสังคม ประชาชน และประเทศชาติ ในบริบทของประเทศไทย
ที่แตกต่างจากบริบทของประเทศอื่นๆ ซึ่ง สปท. ไปเอาแบบอย่างมา จึงน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการให้องค์กรสื่อมีส่วนร่วมที่จะทบทวนกันใหม่ เชื่อว่าทางสื่อสารมวลชนมีเจตนารมณ์ที่จะใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตามในสังคมของสื่อสารมวลชนที่มีหลากหลายในหลายๆ เทคโนโลยี อาจมีสื่อที่ยังต้องปรับปรุงบทบาทและหน้าที่อยู่บ้าง แต่สื่อที่ดีมีจิตใจบริสุทธิ์ที่มีอยู่มาก ต่างเห็นด้วยว่าคงต้องมีการพัฒนา โดย พรบ. ควบคุมสื่อ ควรกำหนดบทบาทไว้ แต่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยที่จะกำหนดให้ พรบ. ควบคุมสื่อ มาบังคับใช้กับสื่อทั้งหมด โดยเฉพาะมีผู้แทนของรัฐบาลมาเป็นกรรมการที่มีหน้าที่ควบคุมสี่อ ควรให้องค์กรสื่อควบคุมกันเอง เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
อีกข่าวน่าจะเป็นองค์กรแรงงานได้เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 360 บาท บ้าง
620 บาท บ้าง อัตราที่เหมาะสมจะอยู่ตรงไหนคงต้องวิเคราะห์ค่าครองชีพในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันแต่ค่าแรงขั้นต่ำเป็นอัตราเฉพาะตัวคนเดียว หากครอบคลุมไปถึงครอบครัวทั้งหมดคงมิใช่อัตราค่าแรงขั้นต่ำ ผลกระทบกับนายจ้างและผู้ประกอบการคงมีแต่สิ่งที่น่าทบทวนของผู้ใช้แรงงานคือระดับทักษะฝีมือของผู้ใช้แรงงานมากกว่า
กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดระดับมาตรฐานฝีมือแรงงงานไว้ 3 ระดับ ค่าจ้างจะมีอัตราเพิ่มจากแรงงานที่ไร้ฝีมืออยู่แล้ว กับทั้งมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพได้จัดระดับไว้ 7 ระดับ น่าจะต้องเอามาบูรณาการกันให้มีอัตราค่าตอบแทนในระดับที่สูงกว่าแรงงานไร้ฝีมือ จะส่งผลให้สมรรถนะแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอัตราค่าตอบแทนมากขึ้น เชื่อว่านายจ้างเขาคงไม่ขัดข้องหากทำงานคุ้มค่ากับค่าจ้าง
ประเทศไทย 4.0 เป็นยุทธศาสตร์ชาติ แรงงาน 4.0 จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะพัฒนารองรับกับประเทศไทย 4.0 ทำอย่างไรจะพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะและสมรรถนะเฉพาะทางเพิ่มขึ้น ในขณะที่มาตรฐานฝีมือแรงงานมีหลายร้อยอาชีพ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้แรงงานและสถานประกอบการ รวมถึงยังไม่ผูกพันกับค่าจ้างแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะบูรณาการกันหรืออาจมารวมกัน เกิดเป็นกระทรวงพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน เพื่อจะได้ไม่ต่างคนต่างทำ
ทั้ง 2 เรื่องคงต้องเป็นโจทย์ให้รัฐบาลได้ทบทวนและทำให้เกิดมีส่วนร่วมเพื่อร่วมสร้างประเทศไทย 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุผลสำเร็จ