ทีมข่าวคิดลึก ประเด็นที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)กล่าวในระหว่างปาฐกถา "บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0" ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐมที่ผ่านมาดูจะมีความชัดเจนว่า บิ๊กตู่ได้ย้ำชัดถึงการเลือกตั้ง จะต้องเกิดขึ้นตามโรดแมป อย่างแน่นอน และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่บิ๊กตู่ บอกเลยว่า ขอให้เลือก "คนดี" ใครไม่ดีก็อย่าไปเลือก !"การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปเลือกให้ดีนะ ใครไม่ดีก็อย่าไปเลือก ผมเป็นห่วงอย่างเดียว จะเลือกเหมือนเดิมรักผมทุกคน แต่เวลาเลือกไปเลือกเหมือนเดิม ไม่เข้าใจเหมือนกัน ถ้าเราคิดว่าจะสร้างสังคมที่ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงประเทศปฏิรูป ต้องเลือกคนใหม่" แน่นอนว่าสำหรับนักการเมืองแล้วไม่ว่าการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าพวกเขาก็พร้อมและมีความคาดหวังว่าการได้ลงไปต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะถูกควบคุมอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า แท้จริงแล้ว แม้ คสช.ยังไม่มีไฟเขียว เปิดทางให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ก็ตาม แต่แม้ ฝ่ายกองทัพเองจะดำเนินภารกิจมุ่งไปที่การดูแลรักษาความมั่นคง ไปจนถึงการดำเนินบทบาทสนับสนุนงานที่ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง ให้กับรัฐบาลและ คสช. ย่อมไม่ได้หมายความว่าทั้ง "ฝ่ายการเมือง" และ "ฝ่ายความมั่นคง" ในมือ"บิ๊กทหาร" จะอยู่ในความเงียบสงบ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด ! แม้จะมีนักการเมืองบางกลุ่ม บางส่วน ได้ประเมินสถานการณ์แล้วเชื่อว่าการเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ "คำตอบ" สำหรับกลุ่มของตน เพราะ 1.ไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้ง จะไม่ถูกเลื่อนลากยาวออกไปหรือไม่และ 2.ประเมินว่าได้มีการฟอร์มจัดตั้ง"รัฐบาลใหม่" เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ "สูตร" ที่จะมีแต่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ อย่าง "ประชาธิปัตย์" และ "เพื่อไทย" รวมทั้ง "ทหาร" ที่จะแปลงกาย ลงมาเล่นผ่านพรรคนอมินี หรือพรรคขนาดเล็ก แต่อาจไม่ได้หมายรวมไปถึง การเปิดทางให้กลุ่มการเมืองที่พ้นไปจากสังกัดดังกล่าวจะได้ประโยชน์ไปด้วย แต่สำหรับสองพรรคการเมืองใหญ่ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยนั้น อาจอยู่ในสภาพการณ์ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงเพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นทั้งสองพรรคก็ต้องเดินหน้าลงสนามเลือกตั้ง เพียงแต่จะเลือกหนทางใดที่จะสามารถ "ได้เปรียบ" มากที่สุด โดยเฉพาะเป็นความได้เปรียบที่จะสามารถทำให้พรรคอยู่รอดปลอดภัย จากการถูกย่อยสลาย ลดทอนกำลังก่อนไปถึงวันลงสนามด้วยอีกต่างหาก สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ต้องยอมรับว่าการเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ย่อมต้องแบกรับเดิมพันเอาไว้สูง เพราะเพื่อไทยจะดำรงความแข็งแกร่งเอาไว้ได้นานแค่ไหน ในท่ามกลางที่ "ไร้หัว" ขาดหัวหน้าพรรค เพราะไม่ว่า "ทักษิณ ชินวัตร"อดีตนายกฯ ในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริงจะส่งชื่อใครขึ้นมาก็ตาม มักจะเจอกับสภาพที่เรียกว่า "ตายก่อนโต" แต่ถึงกระนั้น เพื่อไทยก็ต้องขยับหมาก เพื่อดิ้นรนหาทางรอด อย่างสุดกำลัง ขณะที่ทางฟากพรรคประชาธิปัตย์เอง แม้จะไม่ใช่ "ฝ่ายตรงข้าม" กับ คสช.โดยตรงหรืออยู่ในสภาพที่ไร้หัว ขาดแม่ทัพก็ตามที แต่ทว่า "ศึกใน" ที่ปะทุขึ้นมาจาก "คนกันเอง" ก็ดูจะทำให้เกิด คลื่นใต้น้ำผุดขึ้นมากระแทกพรรคอยู่เป็นระยะๆ กระแสข่าวในทางที่เป็นลบ มักจะถูกขยายให้กลายเป็นประเด็นใหญ่โตเกินจริง มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะกระแสที่ลุกลามไปถึงขั้นต้องการที่จะ"เปลี่ยนหัวหน้าพรรค" หรือแม้แต่การออกมาปะทะกันเองระหว่างแกนนำในพรรค ระดับ "อาวุโส" ก็มักเกิดขึ้น จนทำให้ "คนนอก" มองเห็นถึงความขัดแย้งภายในพรรคได้แจ่มชัดมากขึ้น อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่า ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย นอกจากต้องเร่ง "จัดทัพ" เพื่อเตรียมรับศึกเลือกตั้งแล้ว ในอีกทางหนึ่ง มีรายงานว่ากองทัพเองได้จับตาติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง และนักการเมืองอย่างใกล้ชิด มาพักใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวในเชิงบวกหรือลบ ต่อ คสช.ก็ตาม ว่ากันว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำงานเชิงรุก รุกทั้งงานด้านความมั่นคง ไปจนถึงงานการเมืองทีเดียว