ประเทศไทยกำลังเริ่มนับถอยหลังไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะต้องรักษาสมดุลย์ระหว่าง “ความอยู่รอด” กับ “ความปลอดภัย” ที่จะทำอย่างไรให้เส้นเลือดทางธุรกิจเริ่มเดินได้ โดยปลอดจากเชื้อไวรัสเข้ามาแทรกแซง
แน่นอนว่าสถานการณ์ที่ตัวเลขการแพร่ระบาดพุ่งสูงในช่วงเดือนมีนาคม จากกรณีสนามมวยและสถานบันเทิง นำมาสู่กฎเหล็กที่สร้างความเจ็บปวด กว่าจะหยุดการแพร่ระบาดจากหลักร้อยลดลงมาเหลือหลักสิบ จนต่ำกว่า 50 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกว่าทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ประกอบการธุรกิจทุกระดับ และประชาชนที่ให้ความร่วมมืออยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ฯลฯ ต่างเหนื่อยกันมาชนิดเลือดตาแทบกระเด็น
ฉะนั้น ไม่มีฝ่ายใดอยากจะกลับไปฝันร้ายแบบเดิม ทุกย่างก้าวของมาตรการต่างๆ ต่อจากนี้จึงยิ่งต้องมีความละเอียด รอบคอบ รอบด้าน อย่างที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “เจ็บกันทั่ว แต่เราต้องอดทน และช่วยเหลือกันให้อยู่รอด มิใช่เรื่องลองผิดลองถูก”
อย่างไรก็ดี ในมุมของการประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่สำคัญคือปัญหาการว่างงาน นอกจากแรงงานที่ตกงานฉับพลันจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ก่อนหน้านี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย คาดการณ์ว่า จะมีบัณฑิตจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 524,893 คน เพิ่มจากปี 2562 9.27% โดยมีตัวเลข 60.75% จบปริญญาตรี รองลงมาเป็นผู้ที่จบสายอาชีวะ ซึ่งแบ่งออกเป็น ปวส.สัดส่วน 14.3% และ ปวช. 5.36% ด้วย
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปัจจุบันทำให้ต้องกลับมาทบทวนบริบทโลกที่ส่งผลกระทบถึงการลงทุนจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มที่จะดึงการลงทุนในประเทศต่างๆ กลับสู่ประเทศของตนเอง และคาดว่าหลายๆ ประเทศจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy มากขึ้น ซึ่งจะกระทบความต้องการกำลังคนอย่างแน่นอน ประเทศไทยจึงต้องหันมาพิจารณารูปแบบตำแหน่งงาน และการพัฒนากำลังคนที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์โควิด
นายสุวิทย์ กล่าวว่า หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด คาดว่าตำแหน่งงานจะไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติของการตลาด แต่ต้องมีการสร้างงานให้เกิดขึ้นโดยแรงผลักดันของรัฐบาลที่เป็นบิ๊กแบงโปรเจ็ค ซึ่งกระทรวง อว. เองจะต้องสร้างบัณฑิตให้ตอบโจทย์และรองรับกับตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และเรื่องการ Reskill ยังคงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสร้างกำลังคนให้ตอบโจทย์ได้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ควรเร่งทำตอนนี้คือ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบัน
“คาดว่ากลุ่มงานที่สำคัญในช่วงหลังสถานการณ์โควิดที่ภาครัฐควรผลักดันมีอยู่ 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงทางสุขภาพ, ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงทางอาชีพ โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจอาจจะต้องเน้นเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ สอวช. หารือกับภาคเอกชน นักเศรษฐศาสตร์ รวมถึง บีโอไอ เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ แนวโน้มการลงทุน และการจ้างงาน เป็นฉากทัศน์ของประเทศหลังวิกฤตการณ์โควิด เพื่อให้เห็นภาพกว้างที่ชัดเจนมากขึ้นและค่อยมาเจาะลึกลงรายละเอียดเพื่อหาวิธีการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของประเทศหลังสถานการณ์โควิดได้อย่างตรงจุดต่อไป”
เราหวังว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีมาตรการรองรับปัญหาแรงงานบัณฑิตจบใหม่ออกมา อย่างทั่วถึงและทันการณ์ ขณะเดียวกันหลังยุคโควิดนี้ กระทรวงศึกษาธิการ คงต้องมาทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน การเพิ่มทักษะการเรียนรู้ ที่ต้องปรับยุทธศาสตร์กันใหม่ในทุกระดับเช่นกัน ในการเตรียมพัฒนาเยาวชนในยุคหลังโควิดเพื่อส่งต่อไปในระดับอุดมศึกษาที่ต้องสอดประสานไปด้วยกัน