ทวี สุรฤทธิกุล ร.5 ทรงเป็นกษัตริย์ของประชาชน ความเป็น “กษัตริย์ของประชาชน” ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ในเรื่องนี้ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์ทางการเมืองการปกครองไทย ผู้ที่ได้รับฉายาจากสาธารณชนว่า “เสาหลักประชาธิปไตย” ได้เคยบรรยายในเรื่องนี้เป็นเนื้อหาสำหรับสอนนักศึกษาปี 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงที่ท่านไปรับผิดชอบสอนเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2509 – 2515 วิชาพื้นฐานอารยธรรมไทยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สอนนั้น ท่านวางโครงสร้างเนื้อหาไว้ 2 ส่วนหลักๆ คือ 1 ประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองของไทย ได้แก่ ความเป็นมาของชาติไทย โดยเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์ และ 2 ชีวิตไทยและความเป็นไทย ได้แก่ ภาษา วัฒนธรรมประเพณี และนาฏศิลป์ไทย ซึ่งในเนื้อหาส่วนที่สองนี้ท่านได้พัฒนาจนถึงขั้นให้มีการฝึกโขน ที่เรียกว่า “โขนธรรมศาสตร์” เพื่อให้นักศึกษาปี 1 ทุกคนทุกคณะที่ต้องมาเรียนในวิชานี้ ได้ซึมซับความเป็นไทยให้ลึกซึ้งแน่นหนาถึงขั้น “เข้าไปในสายเลือด” ส่วนหนึ่งก็คือได้ไปฝึกฝนเป็น “ผู้แสดง” ให้ได้ทักษะที่เชี่ยวชาญและอบรมให้อยู่ในขนบธรรมเนียมที่ถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่จะเป็น “ผู้ชม” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าจะต้องเป็น “ผู้ชมที่มีปัญญา” อย่างน้อยก็มีความรู้ความเข้าใจจนถึงขั้นที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือมี “วิญญาณ” ของโขนอยู่ในเลือดเนื้อของนักศึกษาเหล่านั้น ในส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองของไทย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ “โฟกัส” คือให้ความสำคัญไปที่พระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งท่านบอกว่าได้วางรากฐานทาง “จิตวิญญาณทางการเมืองการปกครอง” อันมั่นคงให้แก่คนไทยมากว่า 700 ปีจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ “ความใกล้ชิด” ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรไทย อย่างที่ไม่มีปรากฏในประเทศอื่นใดในโลก พวกเราท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองมาในชั้นเรียนว่า กรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” แล้วก็ตีความกันด้วยความคุ้นเคยว่า คือการปกครองแบบที่ลูกต้องเชื่อฟังพ่อและพ่อก็สามารถตีลูกหรือบังคับลูกให้ต้องทำตามคำสั่งต่างๆ ของพ่อนั้นเสมอ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “ไม่ใช่” เพราะ “ความเป็นพ่อ” หมายถึง “ความรัก ความเมตตา” ตามนัยแห่งศาสนาพุทธอันเป็นวัฒนธรรมหลักของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ การปกครองแบบพ่อปกครองลูกจึงหมายถึงการปกครองด้วยความรักและความเมตตาโดยแท้ การปกครองด้วยความรักและความเมตตานี้มีความแข็งแกร่งแม้ในสมัยที่เราปกครองด้วยลัทธิเทวราช นั่นก็คือในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่กษัตริย์มีฐานะสูงส่งประดุจ “สมมุติเทพ” ก็ยังต้องใช้ “เทวราชอำนาจ” นั้นอย่างผ่อนปรน ส่วนหนึ่งก็คือยังต้องยึดโยงกับศาสนาพุทธ ด้วยการลงความกร้าวแข็งแบบ “ผู้ปกครองที่อยู่เหนือมนุษย์” มาสู่ “ผู้ปกครองที่เข้าใจในจิตใจของมนุษย์” แบบพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีมาหลายร้อยชาติเพื่อเป็นที่พึ่งให้ฝูงสัตว์ทั้งหลาย ในระบบนี้พระมหากษัตริย์จึงต้องปกครองดูแลราษฎรด้วยเอาใจใส่ ดังที่เราจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ของอยุธยาต้องทรงไว้ซึ่งจักรวรรดิวัตรและราชธรรมตามหลักศาสนาพุทธนั้น อย่างที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ธรรมราชา” ทั้งนี้ก็เพื่อให้ราษฎร “ยอมรับ” ในองค์พระมหากษัตริย์ อย่างที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ความชอบธรรม” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มองว่าพระมหากษัตริย์ของไทยอยู่ได้ด้วยคนไทย แม้แนวคิดเทวราชาของศาสนาฮินดูจะมีส่วนทำให้คนไทยถูกกีดกั้นไม่ให้ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์เท่าใดนัก แต่ด้วยแนวคิดแบบธรรมราชาของศาสนาพุทธนั่นเองที่ยังคงเชื่อมสานสัมพันธ์ระหว่างราษฎรไทยกับพระมหากษัตริย์ไว้อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เอาพระทัยใส่ในการทะนุบำรุงศาสนาพุทธนี้เป็นที่ยิ่ง ดังพระราชปณิธานที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นร้อยกรองไว้ว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขันฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” จะเห็นได้ว่าการพระศาสนานั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในลำดับแรก ซึ่งรัชกาลที่ 1 ก็ทรงลงมือทำอย่างจริงจัง แบบที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “ปฏิวัติสงฆ์” เพราะในช่วงอยุธยาตอนปลายจนถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 นั้น วงการสงฆ์ในประเทศไทยมีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างยิ่ง สืบเนื่องมาจนถึงในสมัยกรุงธนบุรีที่พระเจ้าตากสินมหาราชก็พยายามจะปฏิวัติสงฆ์ด้วยเช่นกัน ถึงขั้นที่ทรงประพฤติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างด้วยการผนวชในเพศฆราวาส จนมีคนกล่าวหาท่านว่ามีพระสติวิปลาส อย่างไรก็ตามการปฏิวัติสงฆ์ของรัชกาลที่ 1 โดยการลงโทษพระนอกรีตอย่างเด็ดขาด ได้ทำให้ศาสนาพุทธกลับคืนมาเป็นหลักให้กับประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดก็คือเป็น “หลักยึด” ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเชื่อมโยงองค์พระมหากษัตริย์เข้าด้วยกันกับอาณาประชาราษฎร ดังจะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ในราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ต้องเป็น “พุทธมามกะ” ที่เคร่งครัด ต้องส่งเสริมสถาบันสงฆ์อย่างทุ่มเท ต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เต็มที่ เช่น การสร้างและบูรณะวัดวาอาราม บริจาคนิตยภัต(ปัจจัยหรือเงินเพื่อบำรุงสงฆ์เป็นประจำ) และทรงร่วมพิธีทางสงฆ์ตามพุทธประเพณีนั้นเป็นประจำ เป็นต้น การเป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชนส่วนหนึ่งก็ได้อาศัยพระพุทธศาสนานี้เองช่วยทำให้เกิดขึ้น เพราะการดำรงพระองค์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนไทยด้วยการที่ทรงเป็นแบบอย่างของการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีนั้น ย่อมทำให้คนไทยปลาบปลื้มและชื่นชมว่า เรามีพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเลิศทั้งในทางโลกและทางธรรม อย่างที่เรามักจะกล่าวเป็นสร้อยพระนามแด่ทุกพระองค์ว่า “ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ” นั้น