กระแสเรียกร้องให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยที่มีข้อเสนอมาจากหลายฝ่าย เนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว ในขณะเดียวกันก็จับตาว่าจะมีการขยายเวลาตามประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปหรือไม่ เนื่องจากจะพระราชกำหนดจะหมดอายุในวันที่ 30 เมษายนนี้ เนื่องจากเกรงว่า หากผ่อนปรนมาตรการแล้ว จะมีคลื่นลูกที่สองของการระบาดตามมา เรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า หากมีการขยายเวลาประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก จะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน 1 สัปดาห์ ซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ในทุกวัน ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่างๆในพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค.จะเรียกหารือก่อน 1 สัปดาห์เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยขณะนี้คณะทำงานวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น ไม่ใช่แค่เรื่องของสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ยังมีภาคเอกชนร่วมหารือกันถึงผลกระทบต่างๆ ด้วย หากมีการผ่อนคลายออกมา อย่างไรก็ตาม เชื่อได้เลยว่า เรายังต้องสู้กับไวรัสโควิดอีกพอสมควร เพราะจากข่าวในต่างประเทศวันนี้ยังไม่มีใครกล้ายกเลิกมาตรการเลย อย่างญี่ปุ่น การ์ดตกจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเข้มมาตรการ ทางด้านรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเห็นว่าจะสามารถผ่อนปรนมาตรการต่างๆกลับไปดำเนินชีวิตปกติได้เมื่อใด จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ หนึ่ง ในพื้นที่นั้นตรวจคนที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้วพบว่าอัตราการติดเชื้อจริงน้อยกว่า 0.5-0.75% . สอง พื้นที่นั้นต้องมีหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และมีกฎกติกาที่เคร่งครัดในการใช้ชีวิตของประชาชนในการติดต่อ ซื้อขายสินค้าบริการ โดยสามารถบังคับใช้กฎหมายได้มีประสิทธิภาพ สาม คนที่ออกมาใช้ชีวิตเต็มใจ และพร้อมใจกันที่จะใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือเป็นประจำ และอยู่ห่างกัน สี่ ระบบบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เพียงพอ มีประสิทธิภาพ . และสุดท้ายคือ มีการออกแบบรูปแบบการดำเนินการของแต่ละกิจการหรือแต่ละอาชีพ/วิชาชีพ อย่างเป็นมาตรฐาน มีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน และสามารถตรวจสอบ ติดตามได้ โดยหากไม่ปฏิบัติตาม ต้องมีบทลงโทษที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างทันท่วงที เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐควรเตรียม ก่อนจะประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระบาดซ้ำจนยากต่อการกลับมาควบคุม เราเห็นว่า ไม่ว่าจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆเมื่อใด และผ่อนปรนมากน้อยแค่ไหน หรือจะขยายระยะเวลาตามประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปก็ตาม จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆอย่างรอบรอบและรัดกุมทั้งสองแนวทาง ไม่ว่าจะยืดหรือจะปลดล็อก ในสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้