ทวี สุรฤทธิกุล
พลังประชาสังคมน่าจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างการเมืองใหม่ในอนาคต
ปรากฏการณ์ที่มีผู้คนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมในวิกฤติโควิด-19 อย่างหลากหลายในขณะนี้ ถ้ามองในแง่การเมืองก็ถือว่าเป็น “พัฒนาการ” ที่เป็นไปตามลำดับขั้นของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งเริ่มต้นจาก “ร่วมสนใจใฝ่รู้” คือให้ความสนใจติดตามข่าวสารของบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ แล้วเพิ่มระดับเป็น “ร่วมวิพากษ์วิจารณ์” คือร่วมใช้สติปัญญาและประสบการณ์ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ระดับต่อไปก็คือ “ร่วมยื่นมือเข้าช่วยและแก้ไข” ตามความคิดเห็นที่มีผู้เห็นด้วยร่วมกัน ระดับสุดท้ายก็คือ “ร่วมใช้อำนาจในกระบวนการทางการเมือง” เช่น เข้าร่วมกิจกรรมของพรรค ลงเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เป็นต้น
วิกฤติโควิด-19 ทำให้คนไทยมีความ “ตื่นตัว” อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คนไทยได้ชื่อว่ามีความเฉื่อยชาทางการเมือง สมัยก่อนไปเลือกตั้งน้อยมาก ต้องใช้อามิสสินจ้างไปชักจูงมา ต่อมาแม้จะมีการปฏิรูปการเมืองแล้ว ก็ยังต้องมีบทลงโทษถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็มีผู้ไปใช้สิทธิค่อนข้างมากในครั้งแรกๆ แต่ครั้งต่อๆ มาก็ลดลงดังเดิม คนไทยจำนวนมากมองการเมืองแบบ “ธุระไม่ใช่” คือเห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจและตำแหน่งทางการเมือง เราจึงเห็นการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นได้ง่ายในประเทศไทย รวมทั้งการเกิดขึ้นของเผด็จการทางรัฐสภาจากนักเลือกตั้งในบางยุคสมัย แม้ว่าจะมีการก่อม็อบในหลายๆ ครั้งจากภาคประชาชน แต่สุดท้ายพลังทางการเมืองเหล่านั้นก็ถูกกลืนหายไปในอากาศ จากคาถาที่เป่าหัวว่า “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”
แต่พลันที่มีผู้คนติดเชื้อและล้มตายจากไวรัสร้าย “โควิด-19” พลังของผู้คนก็ระเบิดออกมาอีกครั้ง โดยมีลักษณะที่เป็น “พลังทางสังคม” มากกว่าที่จะเป็น “พลังทางการเมือง” คือเป็นความรู้สึกของผู้คนที่อยากช่วยเหลือสังคม มีการรวมกลุ่มกันทางสังคม คือมีกิจกรรมต่างๆ ในทางสังคมร่วมกัน ได้แก่ กิจกรรมที่เป็นการสร้างบุญกุศล การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก และการกอบกู้ฟื้นฟูสังคมให้พ้นภัย แตกต่างจากพลังทางการเมือง ที่จะต้องมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตัวผู้นำ ผู้บริหาร นโยบาย และวิธีการในการบริหารประเทศ แม้ว่าในวิกฤติครั้งนี้จะมีการตำหนิด่าทอผู้นำและนักการเมืองอยู่มากพอสมควร แต่ก็มีคนให้ความสนใจน้อย เพราะทุกคนมุ่งแต่ที่จะต่อสู้กับไวรัสร้าย อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ คือเรื่องของสุขอนามัยของผู้คนในสังคม รวมทั้งวิกฤติต่างๆ ที่จะตามมา เป็นต้นว่า วิกฤติเศรษฐกิจ อันจะนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมอื่นๆ นั้นด้วย
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักรัฐศาสตร์ ก็อดที่จะมองเชื่อมโยงเข้าไปกับการเมืองด้วยไม่ได้ คือผู้เขียนมองว่าพลังทางสังคมในครั้งนี้อาจจะพัฒนาเป็นพลังทางการเมืองที่น่าสนใจในระยะต่อไปได้อีกด้วย พัฒนาการที่เห็นได้ชัดเจนอย่างแรกก็คือ การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางสังคมอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ “การมีอยู่ของนักการเมือง” ที่หลายๆ คนเห็นว่า “มีประโยชน์น้อยมาก” ในภาวะวิกฤติ จนถึงขั้นที่มีความเห็นว่าไม่มีนักการเมือง ประเทศนี้ก็สามารถบริหารไปได้ ในขณะเดียวกันก็มีการเปรียบเทียบ “ภาวะผู้นำ” คือวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการตัดสินใจในภาวะวิกฤติของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีทั้งเห็นด้วยว่าที่ทำไปเป็นขั้นเป็นตอน อย่างละมุนละม่อมแบบนี้นั้นเหมาะสมแล้ว และที่ไม่เห็นด้วยคือเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจล่าช้า ไม่ทันการณ์ ขาดวิสัยทัศน์ และดูไม่เป็นเอกภาพ คล้ายๆ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ มาตรการต่างๆ ออกมากระปริบกระปรอย มีรูโหว่ ไม่เท่าเทียม และสร้างภาระให้กับสังคม
ในขณะที่รัฐบาลอาจจะมีปัญหา ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือของนักการเมือง และประสิทธิภาพของระบบราชการ (โดยเฉพาะในการใช้ พ.รก.ฉุกเฉิน ที่ยังมีการลูบหน้าปะจมูก การใช้อภิสิทธิ์ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างหละหลวมในหลายๆ พื้นที่) แต่ในภาคประชาสังคมกลับมี “เรื่องดีๆ” ที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “จิตอาสาและจิตกุศล” ที่หลายๆ คนร่วมแรงกันทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น การทำหน้ากาก หรือเจลล้างมืออกแจกจ่าย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการสร้างเครื่องมือไฮเทคทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายช่วยเหลือผู้คน รวมทั้งการบริจาคทรัพย์สินไปในหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งได้ทำให้สังคมไทยดูเข้มแข็งน่าชื่นชม จนหลายๆ คนมีความเชื่อมั่นว่า คนไทยจะช่วยกันให้รอดพ้นภิบัติภัยในครั้งนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะการขยายตัวของภาคประชาสังคมถ้าจะให้ส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของการมีส่วนร่วมทางการเมือง จำเป็นจะต้องเป็นการขยายตัวในเชิงที่จะเข้าไปเสริมโครงสร้างและกลไกต่างๆ ทางการเมือง จนถึงขั้นที่มุ่งผลจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวระบบการเมือง แต่ตอนนี้พลังของภาคประชาสังคมยังมุ่งไปในเรื่องการเสริมพลังของระบบราชการเป็นหลัก เช่น การช่วยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ แต่ในบางเรื่องภาคประชาสังคมก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เช่น การควบคุมกักกันพื้นที่และตัวบุคคล หรือเข้าบังคับใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่(ที่ยังมีปัญหาอยู่มากนั่นเอง) รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น นโยบายการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งยังเป็นเรื่องของข้าราชการอยู่ดังเดิม ในขณะที่ข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมยังไม่ได้รับความสนใจเอาไปริเริ่มและจัดทำมากนัก
ในวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ ภาคประชาสังคมน่าจะได้บทเรียนมากมาย ที่ได้พบเห็นจาก “ความสำเร็จและความล้มเหลว” ของการบริหารราชการของรัฐบาลและข้าราชการ น่าจะใช้บทเรียนทั้งหลายนี้ รวบรวมเป็น “ข้อเสนอ” ที่จะ “ส่งสัญญาณ” ไปยังรัฐบาลและนักการเมือง เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกลไกทางการเมือง ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ กระบวนการบริหารประเทศ และการระดมพลังทางการเมือง เพื่อให้การเมืองไทยเข้าสู่ “ยุคใหม่” ที่ภาคประชาสังคมควรจะเป็นพลังหลักของบ้านเมืองต่อไป
ในวิกฤติก็ยังมีโอกาศ เราอาจสร้างชาติขึ้นใหม่ด้วย “ความร่วมใจ” ของประชาชนทุกคน