ทีมข่าวคิดลึก เมื่อความเคลื่อนไหวทางการเมือง ขยับรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับว่าทุกคนต่างรู้คิวกันเรียบร้อยแล้วว่า เมื่อภายหลังจากที่ผ่านพ้นวาระสำคัญอย่าง "ประชามติ"ไปแล้ว โหมดการเมืองในช็อตต่อไปคือการเริ่มนับหนึ่งเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่และหากมองให้ลึกลงไปกว่าที่ตามองเห็น คือการรับรู้ได้ว่าเกมสุดท้าย "ใคร" คือฝ่ายที่กุมชัยชนะในที่สุด ! ในเรื่องของกระบวนการขั้นตอนร่างรัฐธรรมนูญในระหว่างนี้จะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะใช้เวลา 30 วันในการปรับแก้ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ และคำปรารภเพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ของบทเฉพาะกาลและคำถามพ่วง จากนั้นต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่สำหรับการขยับขับเคลื่อนในทางการเมืองนั้น ดูเหมือนว่าไม่มีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง รีรอ โดยไม่มีการตระเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันลงสนามเลือกตั้งได้แต่อย่างใด การที่ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)แถลงข่าวเปิดตัวตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป หลังจากที่ประชามติผ่านฉลุยไปแล้ว เพียงสองวัน อาจเป็นเพียงแค่ "กระแส" ที่จงใจจุดขึ้นมาเพื่อเรียกเรตติ้งให้กับตัวเองเท่านั้นแม้จะมีความพยายามดึง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มก็ตาม แต่วงในบรรดาเซียนการเมืองต่างไม่มีใครตื่นเต้นหรือประหลาดใจ กับการเปิดตัวพรรคประชาชนปฏิรูป เพราะหลายคนรู้ดีว่า "ของจริง" ที่จะทำหน้าที่เป็น "ตัวเล่น"ให้กับ คสช.สำหรับบริบททางการเมืองครั้งใหม่ หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ผ่านมานั้นต้องมีความแตกต่าง ไปจากการยึดอำนาจ ในแต่ละครั้งที่ผ่านมาในอดีต เมื่อทำการรัฐประหารไปแล้ว คณะบิ๊กทหารจะเร่งคืนประชาธิปไตย โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมมากพอและเลือกที่จะสืบทอดอำนาจผ่านพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวจนกลายเป็น "เป้านิ่ง" เมื่อบวกกับภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ ปัญหา"เสียของ" หลังการยึดอำนาจจึงเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นโอกาสที่จะเปลี่ยนแผนการเล่นเพิ่มความรัดกุม หลังศึกษาบทเรียนมาแล้วด้วยกันหลายต่อหลายครั้ง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า รอบนี้ คสช.จะเลือกเล่นเกมกุมอำนาจผ่านทั้ง "พรรคการเมืองเก่า" ที่มีอยู่ ไปจนถึงการเล่นผ่าน"พรรคหน้าใหม่" บนเป้าหมายของการโดดเดี่ยว "พรรคเพื่อไทย"เพราะหากอ่านสัญญาณที่หลายฝ่ายต่างพากันประเมินถึงทางรอด สำหรับสองพรรคใหญ่ทั้งประชาธิปัตย์และ เพื่อไทย น่าจะมีเพียงหนทางเดียว นั่นคือการ "จับมือ"เพื่อต่อกรกับ คสช. ไม่เช่นนั้นต่างจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในที่สุด ! อย่างไรก็ดี ทั้งเป้าหมายและทุกเกมการเล่นนั้นดูเหมือนว่าจะได้ถูกกำหนดเอาไว้หมดแล้ว ส่วนการกำหนด "กติกา" คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาใช่หรือไม่ ?ด้วยเหตุนี้ล่าสุดจึงมี "นักการเมืองรุ่นเก่า" ด้วยกันไม่น้อยที่เลือกตัดสินใจ "หันหลัง" ให้กับสนามเลือกตั้งรอบหน้า ขณะที่บางส่วน แม้จะมีความพร้อมในเรื่องของทุนรอนแต่กลับไม่เชื่อว่าเขาจะสามารถฝ่าด่าน "รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20" เข้าสู่สภาหินอ่อนได้หรือไม่ มีรายงานข่าวแจ้งว่าพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่จะเปิดตัวขึ้นมาแจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งรอบนี้ จะมาจากการเล่นผ่านนักการเมืองรุ่นเก่าบางรายที่จะทำหน้าที่เป็น "นอมินี"ทำการแยกตัวออกจากพรรคใหญ่เพื่อไปตั้งพรรคใหม่หรือแอบสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังจะใช้วิธีการนำพรรคเล็ก พรรคเดิมขึ้นมาปัดฝุ่นกันใหม่ ภายใต้เป้าหมายเพื่อทำหน้าที่เป็นแขนขาให้การสนับสนุนทหาร บนเส้นทางการเมือง แน่นอนว่าด้วยรูปแบบเช่นนี้น่าจะเป็นการลดทั้งความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้านิ่งเหมือนที่เคยทำพรรคเดียวเพื่อแบกรับภารกิจหลังการยึดอำนาจ !