เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เป็นอีกปรากฏการณ์ที่สะท้อนสัจธรรมบนโลกว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผลที่ได้ก็คือ เป็นเทศกาลสงกรานต์ที่ไม่ได้เป็นวันหยุดยาว ยังคงต้องทำงานกันตามปกติ ไม่มีการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ การสาดน้ำ การละเล่น การประกวดต่างๆ และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ภายใต้ประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง ตามประกาศของกระทรวงวัฒนธรรมที่ประกาศออกแนวปฏิบัติในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา คือให้งดเว้นการจัดงานในทุกระดับ งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา งดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี และงดการเข้าร่วมกิจกรรม ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง การแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด โดยหากจะสืบสานประเพณีสงกรานต์ ก็สามารถทำได้โดย สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน การแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ใช้วิธีการกราบไหว้และขอพร โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 - 2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และการแสดงความกตัญญูและขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกัน ให้แสดงออกผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์ “สิ่งที่ห้ามเด็ดขาดคือ งดเล่นน้ำ รดน้ำและแม้แต่ในบ้านก็ห้ามเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในบ้านที่มีแค่เด็กๆ พ่อแม่ ก็ห้ามเพราะสารคัดหลั่งที่จะไปกับละอองฝอยของน้ำมีโอกาสแพร่เชื้อ COVID-19 ไปยังคนใกล้ชิด หากมีการไอจามไปไกลเกิน 2 เมตรกระจายผ่านละอองน้ำที่เป็นตัวพาหะ นอกจากนี้การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ก็ไม่ควรทำ ยังคงเว้นระยะห่าง 2 เมตร ส่วนการสรงน้ำพระ ทำได้แต่แนะนำว่าทีละคน และใช้แก้ว ขันส่วนตัว รวมทั้งงดการเดินทางกลับภูมิลำเนา” นพ.ทวิศิลป์ วิษณุโยธินในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ระบุ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น หากแต่หลายประเทศทั่วโลกก็ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดยังคงไม่น่าไว้วางใจ แม้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่า หากคลายล็อกต่างๆแล้วจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)เปิดเผยภายหลังเชิญประชุมผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศไทยจากหลายภาคส่วนว่า ที่ประชุมเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยาวนานถึง 18 เดือนสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อมีการเปิดประเทศ คือหลังวันที่ 30 เมษายน จะมีมาตรการอะไรมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดอีกระลอก กระบวนกาคคลายล็อก จึงเป็นอีกกระบวนการสำคัญ เนื่องจากประชาชนที่กักตัวเองอยู่ภายในบ้านมาแล้วอย่างน้อย 3 -4 สัปดาห์ จะมีมาตรการดูแลอย่างไร ให้ยังเคร่งครัดในการดูแลตนเอง ไม่ระเบิดหรือระบายความอัดอั้นที่อันตรายต่อการติดเชื้อ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และวางมาตรการอย่างรอบคอบรอบด้าน