ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปอย่างราบรื่น เมื่อปฏิบัติการ "สกัด" ไวรัสโควิดของรัฐบาล "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ "แม่ทัพใหญ่" แห่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผลงานจากการใช้มาตรการเข้มข้น กำลังปรากฎต่อสายตาคนไทยและชาวโลก ว่าประเทศไทย "เอาอยู่" รับมือไวรัสโควิด จน องค์การสาธารณสุขระดับโลกที่มาประจำในประเทศไทยได้รายงานศักยภาพของเราให้ไปสู่เวทีโลก
แต่แล้ว ในวันเดียวกันกับที่ศบค.ได้แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่14เม.ย.63 ด้วยควาภาคภูมิใจ กลับเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นที่กระทรวงการคลัง
เมื่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่อาจทำให้ประชาชนที่กำลังได้รับความเดือนร้อน พอใจ จนอดรน ทนกันต่อไปไม่ได้ จนต้องยกพลพากันบุกเรียกร้องถึงกระทรวงการคลัง ที่ทำงานของ "อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จนเกิดเป็นภาพที่แตกต่าง ขัดแย้งกันอย่างจัง ระหว่างภาพที่ศูนย์โควิด ณ ทำเนียบรัฐบาล กับความวุ่นวายที่กระทรวงการคลัง !
ปัญหาที่กลายเป็น ประเด็นใหญ่ เบรค "ข่าวดี" ที่ศูนย์โควิด ได้แถลงข่าวดี ถึงยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อยู่ที่ 34ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ กลับมาอยู่ที่ความเคลื่อนไหว จากกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com บุกมาร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง ตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากที่มีเสียงสะท้อนว่า ประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ทั้งที่บางรายร้านค้าต้องผิดลงตามคำสั่งปิดกิจการตลาดนัด หรือบางรายเป็นคนขับแท็กซี่ แต่ระบบกลับรับแจ้งว่าเป็น "เกษตรกร" จนทำให้คนที่เดือดร้อน กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ และที่สำคัญ จากนี้ไป รัฐบาลเองก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้อง "คงมาตรการ" เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อย่างเข้มข้นไปอีกพักใหญ่
เนื่องจากแม้ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อจะอยู่ในระดับที่ระบบการแพทย์ของไทยสามารถรับมือได้ และทำได้ดีกว่าอีกหลายประเทศในยุโรป ก็ตามแต่ย่อมไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลเองจะเร่ง "ผ่อนปรน" มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับมาตรการทางการแพทย์ที่ให้รักษาระยะห่าง แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปยังมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ในทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่วันที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาด จนมาถึงวันที่พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจประกาศใช้ "ยาแรง" ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามประชาชนออกนอกบ้านตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มจนถึงตี4 นั้นจะพบว่า "ผู้มีรายได้น้อย" ในทุกกลุ่มอาชีพ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
แต่ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้มาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจโดยกระทรวงการคลัง ที่ชงแผนเสนอครม.ในวาระพิเศษ จนผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าเป็น "ยา" ที่ประชาชนต่างเฝ้ารอคอย ว่าจะสามารถเยียวยาช่วยเหลือได้ ในสถานการณ์อันเลวร้ายจากโรคระบาดครั้งนี้ แม้จะไม่ครอบคลุมได้ทั้งหมดก็ตาม
ทว่าทำไป ทำมา มาตรการที่รัฐบาลวางน้ำหนัก ให้ความสำคัญไม่แพ้มาตรการทางกฎหมาย ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และโจมตีอย่างหนัก แน่นอนว่าสถานการณ์ที่ มาตรการด้านเศรษฐกิจ อาจกลายเป็น "ช่องโหว่" ให้พล.องประยุทธ์ และรัฐบาล ต้องหันมาเร่งอุดช่องโหว่ เพราะไม่เช่นนั้น งานใหญ่ที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ อาจมีอันต้องกระทบและสะดุด โดยใช่เหตุ !