เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
การแจกเงินชาวบ้าน 5,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ทำกันมานานทั่วโลก จนมีการคิดว่าควรทำให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจสังคมแบบ “ถาวร”
โครงการนี้มีชื่อว่า “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (Universal Basic Income) การให้เงินประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไขตลอดไป แทนที่จะมีแต่โครงการพิเศษเป็นครั้งคราว ช่วยเหลือในยามพิเศษอย่างกรณีโรคระบาด เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือทางเศรษฐกิจอย่างต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
หรือมีโครงการช่วยเหลือคนที่มีปัญหา คนพิการ ผู้สูงอายุ คนเจ็บป่วย รวมถึงคนจน คนกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งถ้าหากมีโครงการรายได้พื้นฐานก็ไม่ได้แปลว่าต้องยกเลิกโครงการช่วยเหลือคนกลุ่มพิเศษต่างๆ ไปทั้งหมด เพียงแต่จะลด “โครงการพิเศษ” ซึ่งมีมากมายลงมา ลดความซ้ำซ้อน ลดงบประมาณและหน่วยงานราชการ ลดโอกาสการคอร์รัปชั่น การที่ข้าวของเงินทองไม่ถึงมือกลุ่มเป้าหมาย หรือปัญหาในการคัดกรองคนที่ควรได้รับ
ที่สำคัญ สังคมมีการแบ่งชนชั้นกันชัดเจน มีประชาชนชั้นสอง คนจนเป็นตราบาป มองว่าเป็นคนที่น่าสงสาร ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ สงเคราะห์ ซึ่งความจริง พวกเขาจนเพราะขาดโอกาสได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตนเอง ไม่มีที่ดินทำกิน โครงสร้างสังคมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาทำให้คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง
คนจนจึงไม่ใช่คนที่ต้องช่วยเหลือเพราะความสงสาร แต่เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐ เป็นสิทธิของเขาที่ควรได้รับความช่วยเหลือให้สามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมที่ไม่เป็นธรรมละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาที่ควรได้รับปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพอย่างพอเพียง
คนจนที่หาเช้ากินค่ำ มีกินบ้างไม่มีกินบ้าง บางวันไม่มีก็ต้องไปยืมคนอื่น แต่คนเหล่านี้ที่ไม่มีรายได้ซ้ำเป็นหนี้ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับคนรวยร้อยล้านพันล้านเมื่อไปซื้อของในร้าน
แม่บ้านที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกสองคน เลี้ยงพ่อแก่แม่เฒ่าอีก ทำงานบ้านทุกอย่าง ต้องดิ้นรนออกไปรับจ้าง เพราะรายได้สามีทำงานคนเดียวไม่พอ สังคมนี้มองเห็น “งาน” จาก “แรงงาน” ที่ทำให้เกิดการผลิตในสังคม ขณะที่การเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน เลี้ยงคนแก่ ไม่ถือว่าเป็นงาน จึงไม่มี “ค่าตอบแทน” หรือ “ค่าจ้างแรงงาน”
โควิด-19 มาครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนโลกอย่างสำคัญ เมื่อโรคระบาดผ่านไป โลกจะไม่เหมือนเดิม สังคมจะไม่เหมือนเดิม คนตกงานจะมากขึ้น งานเก่าที่ล้มหายตายจากก็ยากจะฟื้น อุตสาหกรรมต่างๆ ก็พยายามหา AI ปัญญาประดิษฐมาแทนแรงงานคนให้มากที่สุด เพราะ AI ไม่ป่วย ไม่ติดเชื้อ ไม่ตาย
ที่คาดกันว่า ภายในปี 2030 คนจะตกงานนับพันล้าน อาจมาเร็วกว่านั้น วันนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงคิดเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วหน้า” (UBI) อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงเพื่อชดเชยคนละ 1,200 เหรียญที่สหรัฐ หรือ 1,000 ปอนด์ที่อังกฤษ หรือ 5,000 บาทต่อเดือนในไทย แต่สเปนกำลังจะออกกฎหมายเพื่อให้เงินคนสเปนทุกเดือนตลอดไป นักการเมือง พรรคการเมืองประเทศต่างๆ ก็นำเรื่อง UBI ไปเป็นนโยบายกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ได้เขียนเรื่อง UBI ในคอลัมน์นี้ของสยามรัฐ 4 ตอนเมื่อปลายปี 2560 (รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า แก้ปัญหาความยากจน) ได้เล่าเรื่องโครงการวิจัยที่ทำกันในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบาย
ที่ทำการวิจัยไม่ได้มีแต่ที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ อิตาลี และอื่นๆ แต่มีที่เคนยา อินเดีย ที่มีการสรุปเบื้องต้นได้ผลเป็นบวกที่อาจนำไปสู่การขยายผลพัฒนานโยบายให้ทั้งประเทศต่อไป
ประเทศไทยเรามีการผสมผสานระหว่างการช่วยเหลือพิเศษต่างๆ และการ “แจกเงิน” แบบไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะระหว่างการเกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ ไม่ทราบว่ามีใครที่ไหนกำลังทำการวิจัยเรื่องนี้หรือไม่
เรามี TDRI มีสภาพัฒน์ฯ สภาวิจัยฯ สกว. และอื่นๆ มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในทุกจังหวัด และวันนี้มีกระทรวงอุดมศึกษาที่ได้ชื่อสวยงามว่า “กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
หน่วยงานทั้งหมดใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน อยากถามว่า ยามวิกฤตินี้ มีกระทรวงอุดมศึกษาฯ และหน่วยงานวิจัยมากมายได้ทำงานวิจัยอะไรมากน้อยเพียงใด
ขณะที่โควิด-19 กำลังระบาดใหญ่ในประเทศเยอรมัน เขาเริ่มทำการวิจัยตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม เพื่อศึกษาที่มาเพื่อจะได้รู้ที่ไป และหาทางแก้ไขปัญหาทั้งวันนี้และวันหน้าให้ได้ และวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาก็มีการสรุปเบื้องต้นว่า งานวิจัยแบบบูรณาการและแบบสหวิทยาการนี้ได้ผลอย่างไร งานนี้จะทำต่อเนื่องไปกี่เดือนกี่ปีก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่มีสิ้นสุด
ประเทศไทยมีใครทำวิจัยเรื่องโควิด-19 บ้าง ไม่ใช่แต่เรื่องการแพทย์ การรักษา แต่ที่เกี่ยวข้องกับสังคมโดยรวม เพราะคนที่ทุกข์มากที่สุดวันนี้ไม่ใช่คนป่วยด้วยไวรัสนี้เท่านั้น แต่คนไทยทั้งประเทศที่ “ถูกจำกัดเสรีภาพ” ในนามของการแก้ปัญหาโรคระบาด ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ จิตใจ สังคมโดยรวม
และการจัดการสังคมไทยหลังวิกฤตินี้จะเป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์ 20 ปียังใช้ได้อยู่อีกหรือ การทบทวนทุกอย่างอยู่บนฐานข้อมูลความรู้มากน้อยเพียงใด ไม่รู้เขาไม่รู้เรา รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง
การให้เงินคนไทยเดือนละ 5,000 จะกี่เดือนกี่ปี กี่คน ควรอยู่บนฐานข้อมูลความรู้ การวิจัยที่ประเมินสถานการณ์ เพื่อช่วยให้นโยบายมีฐานข้อมูลจากสภาพที่เป็นจริง และบนหลักการไม่ใช่เพื่อมนุษยธรรม ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ แต่เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นการพัฒนา
สังคมที่พัฒนาจะมีฐานความรู้เพื่อจัดระบบเศรษฐกิจและสังคม เขาทุ่มเทงบประมาณและบุคลากรเพื่อทำการวิจัยที่ตอบคำถามสังคม ตอบคำถามสถานการณ์ทั้งระยะสั้นระยะยาว สังคมไม่พัฒนาเป็น “มโนสังคม” คิดเอาเอง สรุปเอาเอง ยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่ง “มโน” มาก เพราะหลงอำนาจ
สังคมเผด็จการใช้อำนาจเพื่อกำหนดนโยบายการใช้เงิน สังคมประชาธิปไตยใช้ข้อมูลความรู้เพื่อกำหนดนโยบายกระจายทรัพยากรให้ประชาชน ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ