การหยุดชะงักของเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากมาตรการของชาติต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายนักที่จะฉุดให้เศรษฐกิจโลกดำดิ่งลงไปอีก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทรุดตัวลงจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจากองค์กรการกุศลออกซ์แฟม ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ทำลายระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและทำให้ประชาชนประมาณ 500 ล้านคนกลายเป็นคนยากจน โดยวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทรุดลงอย่างรวดเร็ว มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 และอาจทำให้บางประเทศต้องกลับไปอยู่ในระดับความยากจน เมื่อประมาณสามทศวรรษ ภายใต้สถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่ใต้เส้นความยากจนอย่างรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 434 ล้านคนและทำให้โลกมีคนยากจนรุนแรงเพิ่มเป็น 922 ล้านคนทั่วโลก และผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากส่วนใหญ่จะทำงานอยู่นอกระบบเศรษฐกิจ โดยมีสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากการจ้างงานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
องค์กรการกุศลออกซ์เฟม ยังเตือนว่า คนยากจนมีรายได้แบบรายวัน หากหยุดงานก็หมายถึงไม่มีรายได้ จึงไม่มีความสามารถในการสะสมทั้งเงินและของจำเป็นต่าง ๆ โดยมีแรงงานมากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกที่มีการทำงานในลักษณะนี้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อประเทศส่วนใหญ่ที่ยากจนและอ่อนแอที่สุดในโลก
ด้านนางคริสติน่า จอร์เจียว่า กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกปรับลดลงอย่างรุนแรงที่สุด และมีแนวโน้มว่าจะเริ่มดีขึ้นได้ในปีหน้า โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด ซึ่งอาจหมายถึงต้องการเงินช่วยเหลือจากต่างชาติจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ไอเอ็มเฟยังเตือนว่า สถานการณ์ต่าง ๆ อาจเลวร้ายลงได้อีก เนื่องจากโรคระบาดโจมตีทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน โดยประเทศในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาคือประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีระบบสุขภาพที่อ่อนแอกว่า และมีข้อจำกัดในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้นักลงทุนข้ามชาติมีการถอนทุนออกจากประเทศเหล่านั้นไปแล้วกว่า100,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าการไหลออกที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินโลกถึงสามเท่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อทิศทางเศรษฐกิจโลกยังน่าห่วงและคาดหวังมาตรการแก้ไขปัญหาจากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ
เมื่อหันมาดูประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยในปี 2563 ลงเหลือเติบโตแค่ 0.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 2.7% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
กระนั้น ทิศทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย หลังจากสามารถสยบเชื้อไวรัสโควิด-19ไม่ให้อาละวาดได้ แม้บางธุรกิจจะมองเห็นโอกาสที่ประเทศต่างๆโดนพิษโควิดเล่นงาน หากแต่รัฐบาลและภาคเอกชนคงจะต้องผนึกกำลัง ระดมสมองหาแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจ ที่หันมาพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น เลิกยืมจมูกคนอื่นหายใจนั้น น่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนในอนาคต