การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกเรียกขานจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ว่าเป็น “รัฐประหารโควิด” นายปิยบุตรให้เหตุผลที่เรียกเช่นนั้นว่า เพราะสิ่งปกติที่เคยทำได้หายไปและอำนาจได้กลับมารวมศูนย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง เป็นผู้เผด็จการมาจัดการเรื่องโควิด หรือ (Covid Dictator) เราไม่เห็นว่ามีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาจัดการปัญหา มีเพียงนายกและบางครั้งก็มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย บทบาทรัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นำ และใช้กลไกข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการประจำจัดการเบ็ดเสร็จ ออกมาตรการเข้มข้น เกินกว่าเหตุ จำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น โดยที่เห็นว่าออกมาแล้วไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า คิดรอบคอบตลอดรอดฝั่งหรือไม่ จะเกิดผลเสียอย่างไร มีการฉีดยาแรง และเอาโทษมาขู่กัน “ทั้งหมดนี้ มาในนามของสุขภาพนำเสรีภาพ ซึ่งแท้จริงแล้ว สุขภาพและเสรีภาพเดินควบคู่กันได้ ถ้าเรามีผู้นำประเทศได้อย่างมีกึ๋นเพียงพอ มีสภาวะผู้นำเพียงพอในการบริหารจัดการบ้านเมืองในสภาวะวิกฤต” เพราะหากจะมองในเชิงอำนาจ ก็เสมือนพล.อ.ประยุทธ์ ทำ“ปฏิวัติตัวเอง” เพื่อกระชับอำนาจ จึงไม่ผิดที่นายปิยบุตรจะแสดงความเห็นออกมาเช่นนั้น กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ผิดที่ประกาศว่า “สุขภาพนำเสรีภาพ” เพราะรัฐบาลต้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน การออกมาตรการมาแก้ไขปัญหา จำเป็นต้องบังคับให้ปฏิบัติเพื่อส่วนรวม ย่อมกระทบต่อเสรีภาพบ้าง เพราะบางเรื่องขอความร่วมมือด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันก็มีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจ ในการปฏิบัติตนไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทางเลือก การล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่างทางสังคมที่ควบคู่ไปกับมาตรการที่เข้มข้น หากแต่ก็ไม่ได้ตึงเกินไปเหมือนบางประเทศที่เจ้าหน้าที่ใช้ไม้หวดตี หรือสั่งยิงทิ้ง อีกทั้งการตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นผลสะท้อนมาจากการรับฟังข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากหลายฝ่าย ที่เรียกร้องต้องการให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประ สิทธิภาพ และขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ด้วยความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ตัดสินใจทำเช่นนี้ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ด้วยที่ผ่านมาการบริหารจัดการของรัฐมนตรีต่างพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปคนละทิศคนละทาง ต่างคนต่างทำ และแม้จะเกิดปัญหาการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาหน้างานของหน่วยงานที่ปฏิบัติ ซึ่งขาดการบูรณาการร่วมกัน เช่นกรณีเหตุวุ่นวายของผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาจากวันที่ประกาศเคอร์ฟิว แต่ก็สามารถเรียกตัวบุคคลเหล่านั้นมาควบคุม หรือกักตัวตามระเบียบได้ จากอานิสสงส์ของเคอร์ฟิว อีกทั้ง หากไม่มีปัจจัยภายนอก เช่น ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศก็มีทิศทางลดลง ดังนั้น สิ่งที่นายปิยบุตรพูดจึงไม่ผิด เพราะสิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กำลังดำเนินการอยู่นี้ คือ รัฐ “ประหารโควิด” ให้สิ้นซาก