ทวี สุรฤทธิกุล
อังกฤษสมัยก่อนเขาจ้างอัศวินปราบมังกร
ในช่วงที่กักตัวอยู่บ้าน ระหว่างนั่งพิมพ์งานส่งมหาวิทยาลัยและบทความส่งหนังสือพิมพ์ ผู้เขียนชอบเปิดทีวีเป็นเพื่อน ส่วนใหญ่ก็เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวๆ ถ้าน่าสนใจก็จะติดตามดูจนจบ อย่างวันก่อนที่มีการฉายเรื่อง Dragon Heart (ชื่อภาษาไทยจำได้คับคล้ายคับคลาว่า “อัศวินหัวใจมังกร” อะไรทำนองนี้) มีฉากหนึ่งพระเอกผู้เคยเป็นอัศวินในวังหลวง ซึ่งตกระกำลำบากอยู่ในป่า และได้เป็นเพื่อนกับพญามังกร วันหนึ่งรู้ว่าชาวบ้านที่อยู่ใกล้ๆ มีความเดือดร้อน เพราะมีมังกร(คงจะเป็นมังกรตัวอื่น)มาอาละวาด จึงสมคบคิดกับพญามังกรว่าจะไปช่วยให้ชาวบ้านสบายใจ ด้วยการ “แสดงละคร” ให้พญามังกรถูกยิงจากลูกธนูของพระเอก เพื่อให้ชาวบ้านเชื่อว่าจะไม่มีมังกรมารบกวนชาวบ้านอีกแล้ว โดยพระเอกได้รับค่าจ้างด้วยส่วนหนึ่ง จากนั้นชาวบ้านก็ขอให้พระเอกช่วยสอนชาวบ้านต่อสู้ใช้อาวุธต่างๆ เพื่อต่อสู้กับกษัตริย์ทรราชย์ ในฉากจบกษัตริย์ถูกดาบของพระเอกแทงเข้าที่หัวใจแต่ไม่ตาย ที่สุดก็สืบทราบว่าเมื่อตอนที่กษัตริย์นี้เป็นวัยรุ่นเคยประสบอุบัติเหตุถูกแทงที่หัวใจ แต่พระมารดามีความสนิทสนมกับมังกรตัวหนึ่ง ได้ไปขอแบ่งหัวใจจากมังกรตัวนั้นมาให้พระโอรสครึ่งหนึ่ง โดยพระโอรสได้ให้สัญญาว่าจะเป็นกษัตริย์ที่ดี มังกรจึงยอมแบ่งหัวใจให้ พระโอรสจึงไม่ตาย ซึ่งมังกรตัวนั้นก็คือพญามังกรเพื่อนของพระเอกนั่นเอง กษัตริย์ทรราชย์ได้ร้องขอชีวิตและให้พญามังกรมาช่วย แต่เมื่อพญามังกรทราบว่าเป็นกษัตริย์ที่ชั่วร้าย จึงวิ่งเข้าหาดาบของพระเอกให้เสียบตรงหัวใจ ทั้งพญามังกรและกษัตริย์ชั่วก็สิ้นชีพไปพร้อมกัน ดวงวิญญาณของพญามังกรได้ไปจุติเป็นดาวดวงหนึ่งในหมู่ดาวมังกร (Draco) ซึ่งเดิมมีจำนวน 6 ดวง เรียงรายกันเป็นรูปมังกรอยู่บนท้องฟ้ามานานแล้ว โดยเป็นดวงที่ 7 อยู่ตรงกลางกลุ่มดาวนั้น เรียกว่า “ดาวหัวใจมังกร”
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานเขียนเกี่ยวกับระบบศักดินาของอังกฤษ เป็นหนังสือชื่อ “ฝรั่งศักดินา” ที่เขียนโดยท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงระบบการเมืองอังกฤษที่วิวัฒนาการมาอย่างยาวนานนับเป็นพันๆ ปี เริ่มจากการอ้างอำนาจของกษัตริย์เหนือชีวิตผู้คน กษัตริย์คือเจ้าของที่ดินทุกตารางนิ้วในประเทศ ราษฎรมีฐานะเป็นเพียง “ทาสที่ดิน” โดยมอบหมายให้ขุนนางควบคุมการทำมาหากินของชาวบ้านบนที่ดินที่กษัตริย์แบ่งให้ขุนนางดูแล แล้วให้ขุนนางเก็บส่วนแบ่งทั้งที่เป็นพืชผลและเงินทองที่ได้จากการขายพืชผลส่งให้แก่กษัตริย์ ซึ่งขุนนางก็มีทั้งดีและเลว ขุนนางพวกหนึ่งเป็นนักรบ ถ้าหากได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ก็จะได้ตำแหน่งเป็น “อัศวิน” (Knight) อัศวินเหล่านี้เมื่อทราบว่ากษัตริย์ไม่มีคุณธรรมก็จะถอนตัวออกมาเลิกสนับสนุนกษัตริย์ บางคนออกไปอยู่ในชนบทกลายเป็น “อัศวินรับจ้าง” เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ถูกรีดนาทาเร้น (อย่างเช่น โรบินฮู้ด ก็เคยเป็นอัศวินมาก่อน พ่อของเขาก็เป็น Landlord หรือขุนนางที่ดูแลการทำมาหากินของราษฎรอยู่แต่เดิม แต่เมื่อกลับมาจากการไปรบที่สงครามครูเสด ก็มาพบว่าพ่อถูกฆ่าด้วยฝีมือของขุนนางเจ้าที่ดินคนใหม่ ที่สมคบคิดกับกษัตริย์ทรราชย์ร่วมรีดนาทาเร้นชาวบ้าน โรบินฮู้ดจึงเข้าช่วยชาวบ้าน ด้วยการกำจัดขุนนางและกษัตริย์ที่ชั่วร้ายนั้น) อัศวินจึงมีสถานภาพอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ผู้กอบกู้” หรือ “ผู้ล้มล้างทรราชย์” ซึ่งประชาชนหวังเป็นที่พึ่งพิง
ประชาธิปไตยในอังกฤษก็มีพัฒนาการมาจากการต่อสู้ของเหล่าอัศวินร่วมกับขุนนาง(ดีๆ)จำนวนหนึ่ง ตามข้อมูลในประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในสมัยของพระเจ้าจอห์น เมื่อ 800 กว่าปี ราษฎรถูกรีดนาทาเร้น ต้องส่งส่วยและถูกเก็บภาษีแบบบ้าเลือด ขุนนางและอัศวินในหลายๆ เมืองจึงรู้สึกทุกข์ร้อนแทนชาวบ้าน พากันลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยไม่ยอมที่จะทำการเก็บภาษีจากราษฎรตามที่พระเจ้าจอห์นมีพระราชโองการ ขณะนั้นอังกฤษก็ทำสงครามกับฝรั่งเศส พระเจ้าจอห์นไม่มีทางเลือก เพราะถ้าขุนนางไม่ส่งเงินภาษีมาให้ ก็ไม่มีเงินไปใช้จ่ายเพื่อทำสงคราม และคงจะต้องแพ้สงครามในที่สุด จึงยอมทำข้อตกลงกับเหล่าขุนนาง ใน ค.ศ. 1215 ข้อตกลงนี้เรียกว่า Magna Carta (แปลว่า “สัญญาฉบับใหญ่” หรือมีบัญญัติศัพท์ว่า “มหากฎบัตร”) ข้อตกลงหลักข้อหนึ่งและเป็นข้อตกลงที่สำคัญที่สุดก็คือ การเก็บภาษีจะให้กษัตริย์กำหนดเกณฑ์และจำนวนภาษีเองตามแบบเดิมไม่ได้ จะต้องได้รับการยินยอมจากขุนนางซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของราษฎร (No taxation without representation) หลักการอันนี้นี่เองที่ทำให้ขุนนางและอัศวินได้กลายเป็นผู้ที่เข้าไป “ต่อสู้” ทำข้อตกลงต่างๆ กับกษัตริย์ นั่นก็คือการออกกฎหมายและ “การตัดสินใจที่จะกระทำหรือไม่กระทำ” ที่ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “นโยบาย” จะต้องกระทำผ่านที่ประชุมร่วมกันของขุนนางเท่านั้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดระบบการเมืองแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภา” ที่ตัวแทนของประชาชนต้องมาร่วมประชุมกันเพื่อทำงานให้กับประชาชนทั้งหลายนั้น
ที่เล่าเรื่องวิวัฒนาการของระบบการเมืองอังกฤษในยุคแรกๆ มานี้ ก็เพื่อจะเชื่อมโยงให้เห็นว่า “มังกร” ที่อาจจะเทียบได้กับ “วิกฤติของบ้านเมือง” สามารถแก้ไขได้โดย “ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ” ที่เปรียบได้กับ “อัศวิน” ผู้มาฆ่ามังกร อย่างในกรณีวิกฤติโควิด-19 อัศวินเหล่านี้ก็คือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลาย ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งจนประชาชนทั้งหลายยกย่องยอมรับ ในขณะที่ประชาชนแทบจะลืมนักการเมือง ซึ่งเมื่อโผล่มาครั้งใดก็จะถูกประชาชน “โห่ฮา” ให้พ้นไปทุกครั้ง บางทีปรากฏการณ์แบบนี้อาจจะส่งสัญญาณว่า นักการเมืองแบบ “วณิพก” อาจจะต้องสูญพันธุ์” ไปได้แล้ว ทั้งนี้การเมืองในยุคต่อไปเราคงจะต้องหานักการเมืองแบบ “อัศวิน” เพื่อมาอาสาทำงาน “แบบมืออาชีพ” ให้กับประชาชน
“มืออาชีพ” ที่ไม่ใช่แค่เก่งและเสียสละ แต่ต้อง “ขาวสะอาด” เหมือนแพทย์และพยาบาลทั้งหลายนั้นด้วย