แม้จะมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับมาตรการปิดเมืองและห้ามประชาชนออกจากเคหะสถาน ว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลในการควบคุมโรค โดยสามารถหยุดการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 ได้ผล แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ
ทั้งนี้รัฐบาลได้เริ่มจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ล็อตแรกแล้วตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายน 1,396,622 คน แบ่งเป็น วันที่ 8 เม.ย.) 251,821 คน วันที่ 9 เมษายน 641,703 คน และวันที่ 10 เมษายน 503,098 คน ส่วนที่เหลือทยอยตรวจสอบสิทธิ์
ในขณะที่ล่าสุดได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ประกอบด้วยการออก พระราชกำหนดกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและจัดทำแผนด้านสาธารณสุข 6 แสนล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวม 4 แสนล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศหรือธปท. ออกซอฟต์โลนเพื่อดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท และดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund (BSF) และให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) รายงานว่าการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อเนื่องแต่อาจไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้ทั้งหมด จากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ โดยกกร. ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน นอกจากนี้ หากการระบาดของ COVID-19 สามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สู่ภาวะปกติก็คงต้องใช้เวลา
ขณะเดียวกันจากการที่รัฐได้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 และมีมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล และเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นมาตรการที่เอกชนต้องการเสนอเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ มาตรการด้านผู้ประกอบการ ได้แก่ ขอให้รัฐสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น) ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น
ส่วนมาตรการด้านแรงงานอาทิ ขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
นอกจากนี้ควรอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน ฯลฯ
กระนั้น การจัดมาตรการชุดใหญ่ ฉีดยาแรงพุยงเศรษฐกิจนี้ จะต้องพิจารณาผลดีต่อสถานการณ์อีกครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น ระหว่างนี้ที่ยังไม่ผ่อนคลายมาตรการบังคับต่างๆ ของภาครัฐ ถือเป็นช่วงของการปรับทัศนคติของประชาชนให้มีความรู้ ความเข้าใจและความเคร่งครัดในการปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเอง หากคลายล็อกเมื่อใดก็จะได้ไม่กลับมาติดซ้ำ และแพร่ระบาดครั้งใหญ่จนเกินที่จะควบคุมและเยียวยา