แสงไทย เค้าภูไทย
รัฐบาลคสช.กำลังรู้สึกว่า สื่อมวลชนคุกคามเสถียรภาพของตนอย่างหนัก จึงพยายามออกกฎหมายควบคุมบทบาทของสื่อแบบเหวี่ยงแห ทั้งๆที่สื่อหลักวิวัฒนาการตนเองและพัฒนาตนเอง ด้วยองค์กรของตนเองจนสมบูรณ์ ยังคงเหลือแต่สื่อออนไลน์ที่ต้องยกระดับให้มีมาตรฐานทัดเทียมกัน
คงต้องใช้เวลาและความละเอียดอ่อนในการยกระดับมาตรฐานการนำเสนอข่าว ข้อมูล ภาพ ข้อความ เนื้อหาสาระ ในสื่อสังคมมากพอสมควรเพราะผู้ที่นำเสนอข่าวสาร ข้อมูลและภาพในสื่อออนไลน์นั้น มีความหลากหลายในสังคมมาก ทั้งระดับความรู้ อาชีพ รายได้ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมถิ่น วัฒนธรรมองค์กร ทัศนคติ คตินิยม ความเชื่อส่วนบุคคล ขนบธรรมเนียม ประเพณีนิยม ฯลฯถ้าเปรียบเทียบระหว่างสื่อหลักกับสื่อออนไลน์หรือสื่อสังคม (social media) แล้ว ก็เหมือนกับห้างสรรพสินค้ากับตลาดนัดสื่อหลักนั้น แต่เดิมเรียกกันว่าสื่อสารมวลชน ( Mass Media) ที่อาจจะเรียกคำอื่นเช่น นิเทศ วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
สื่อหลักที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของไทยคือ บางกอกรีดเดอร์ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ พิมพ์เผยแพร่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี 2387ต้องถือว่าหนังสือพิมพ์ของไทยมีวิวัฒนาการและพัฒนาการมาจนถึงวันนี้เป็นเวลา 173 ปีแล้วสื่อหลักอื่นๆไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร วารสาร ฯลฯก็ใช้รูปแบบพัฒนาการเดียวกัน มีการควบคุมคุณภาพ จรรยาบัน ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นผู้นำทางความคิด การปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ฯลฯหนังสือพิมพ์ของไทยผ่านยุคสมัยของเผด็จการสลับกับประชาธิปไตยมาไม่ต่ำกว่า 13 ครั้งต้องต่อสู้กับการกดขี่ คุกคาม ถูกจำกัดบทบาท ถูกล่ามโซ่แท่นพิมพ์ ถูกปิดกิจการ บางครั้งต้องสังเวยด้วยชีวิตสื่อมวลชนอยู่ได้ทุกสภาพ แม้ในยุคเผด็จการ ในระหว่างเผด็จการกับทรราชมีเส้นแบ่งเล็กๆเส้นเดียวคือคุณธรรม
วันใดที่เส้นแบ่งเส้นนี้ขาด คำว่าเผด็จการจะไปรวมกับคำว่าทรราช กลายเป็นเผด็จการทรราชยุคนี้ มีสื่อใหม่ ที่เรียกว่าสื่อดิจิตัล ยังไม่ได้แยกออกมาเป็น สื่อมวลชน (press) หรือสื่อสังคม (social media)ได้ชัด สื่อออนไลน์หรือสื่ออีเลกทรอนิกส์เริ่มมีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนในปี 2535 ซึ่งช่วงนั้นยังเป็นระบบอนาล็อกอยู่ เมื่อมีการระดมมวลชนผ่านโทรศัพท์มือถือออกมาชุมนุมคัดค้านการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่พยายามสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารรสช.
วันนี้ สื่อดิจิตัลโตวันโตคืน จนเข้ามาแย่งงานแย่งหน้าที่ของสื่อมวลชนหลักไปมากแต่ก็ยังขาดคุณภาพ เพราะขาดการควบคุมการผลิต ขาดความรับผิดชอบ จุดมุ่งหมายหลักของผู้ใช้สื่อดิจิตัลนั้น เพื่อสนองความพึงพอใจส่วนบุคคลมากกว่าเพื่อสังคม (เปรียบเทียบตามจำนวนครั้งของการโพสต์/แชร์)การควบคุมการผลิต หมายถึงการจัดระบบความคิด การกำหนดเป้าหมายสื่อหรือกลุ่มผู้รับสื่อ ( Group Audience) การใช้ถ้อยคำ การคัดเลือกภาพ/วิดิทัศน์ ฯลฯ สื่อออนไลน์ไม่ผ่านการกลั่นกรอง (edited) การขัดเกลาสำนวน (Rewritten) เหมือนสื่อหลักเปรียบเหมือนสินค้าในห้างสรรพสินค้ากับในตลาดนัดการวางขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า เป็นการจัดวางอย่างเป็นระเบียบ แบ่งหมวดหมู่สินค้า สินค้าแต่ละชิ้น แต่ละหมวด บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม มีการจัดวางสินค้า ( display) บนหิ้ง บนชั้น คอร์นเนอร์หรือเข้ามุม อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยหมวดสินค้าของหนังสือพิมพ์ วารสาร รายการวิทยุ โทรทัศน์ ก็มีแบ่งกันชัดเจน เป็นหมวดหมู่ ( sections)
เช่นข่าวพาดหัว ข่าวนำในหน้าแรก ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวอาชญากรรม ข่าวสังคม ข่าวกีฬา คุณภาพชีวิต วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯสินค้าทุกชิ้นที่วางในห้างรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ล้วนมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพราะก่อนจะนำมาวางบนหิ้ง มีการคัดกรองเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่รีไรเตอร์ หัวหน้าข่าว จนถึงบรรณาธิการไม่ได้จัดวางกันอย่างสะเปะสะปะ เป็นแผงลอย แบกะดิน คุณภาพตามใจคนขายมากกว่าตามใจคนซื้ออย่างสื่อออนไลน์เพราะคนขายสินค้าในตลาดนัด ล้วนมาจากต่างสังคม ต่างอาชีพ ต่างระดับความรู้ จึงพบเห็นเป็นประจำที่มีการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ภาพที่ไม่เหมาะสมในสื่อออนไลน์
วันนี้ รัฐบาลเหมารวมเอาสื่อหลักไปอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์สื่อมวลชนหลักนั้น ยึดถือเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นสำคัญทำหน้าที่เป็นปากเสียงประชาชาชน ทำหน้าที่ผู้นำทางความคิดของประชาชน ให้ความรู้เพิ่มขึ้น ( greater knowledge) แก่ประชาชน เป็นสื่อกลางที่สามารถอธิบายนโยบาย การดำเนินการ ของรัฐต่อประชาชนได้ดีกว่าตัวรัฐบาลเองอธิบายปรากฏการณ์ เหตุการณ์ทุกด้านที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ในสังคมการรุกล้ำ บุกรุกพื้นที่ข่าว พื้นที่ความคิดของประชาคมทุกด้านของสื่อหลักจากสื่อออนไลน์ ตั้งแต่อาชญากรรมมาจนถึงการเมือง ทำให้เกิดความสับสน
บางครั้งสื่อสังคมออนไลน์เองก็สับสนตนเอง ตีความหมายไม่ออกว่าระหว่างการนำเสนอข้อความและภาพของตนเป็น social media หรือเป็น family mediaในอนาคตผู้ให้บริการระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Android ของ Google หรือ iOS ของ Apple จะมีการแยกหมวดหรือ section แบบสื่อหลัก ตามกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน หรือ group of interests ใครสนใจ ด้านการเมือง ก็คลิกเข้าไปในหมวดข่าวการเมือง ใครสนใจข่าวอาชญากรรมก็เข้าไปในเซคชั่นอาชญากรรม ใครสนใจด้านบันเทิง กีฬา เกษตร สังคม ฯลฯก็เข้าไปในหมวดที่ตนสนใจ
ขณะนี้ผู้ให้บริการสื่อสารออนไลน์ไม้ว่จะเฟซบุ้ค ไลน์ อินสตาแกรม ฯลฯ ต่างก็มีแพลทฟอร์มสำหรับกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกันอยู่แล้วเช่น กลุ่มเพื่อน กลุ่มอาชีพ กลุ่มกิจกรรม ความเชื่อ ฯลฯ ตามพฤติกรรมและการแสดงออกของแต่ละบุคคลที่มีความสนใจร่วมกันหากรัฐจะควบคุมหรือกำกับหรือพัฒนาสื่อออนไลน์ให้นำเสนอแต่ข้อความหรือภาพที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ไมใช่ปล่อยให้เป็นตลาดนัดข่าวสารเปรอะเช่นปัจจุบันนี้ ก็ต้องสร้างระบบให้เหมือนกับสื่อหลักที่พัฒนาตัวเองอย่างสมบูรณ์ ใช้เวลาเกือบ 2 ศตวรรษวิวัฒนาการกันมาพูดง่ายๆก็คือ ยกระดับสื่อตลาดนัด ขึ้นมาเป็นสื่อขึ้นห้างใครต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข่าว ข้อมูล ภาพ วิดิทัศน์ ฯลฯ ก็คลิกลงทะเบียนเข้าใช้ในแต่ละหมวดหรือเซ็กชั่นนั้นๆไม่ใช่วางแบกะดินหรือวางแผงลอยกันเช่นทุกวันนี้ ที่กว่าจะพบข่าวและข้อมูลที่ตนเองสนใจก็ต้องสาวหน้าจอกันเป็นคืบเป็นศอก จึงจะพ้นจากข้อความที่ไม่ต้องการ
ข้อความที่ไม่ต้องการได้แก่ hate speech ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง สร้างความขัดแย้ง กักขฬะ ด่าทอ ทับถม หมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน หยาบคาย หยาบโลน อนาจาร ไร้สาระ “กาก” “ขยะ” หลอกลวง ก่ออาชญากรรม เป็นเท็จ ฯลฯหากจะยกยกระดับคุณภาพข่าวสาร ข้อมูล ให้ทัดเทียมกับสื่อหลักก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็มีอยู่แล้ว พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ก็มีอยู่แล้ว พ.ร.บ.การพิมพ์ก็มีอยู่แล้วจะออกกฎหมายใหม่มา ให้ถูกค่อนแคะทำไม ว่าไม่มีอะไรจะทำแล้วหรือ ?