ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)เปิดเผยเมื่อวันที่ 9เม.ย.63 ที่ผ่านมา ระบุว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 54 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,423 ราย เสียชีวิตสะสม 32 ราย รักษาหายแล้ว 940 ราย ตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "รายใหม่" ที่มียอดสวิงขึ้นลง อยู่ที่เลข "สองหลัก" บ้างในบางวัน แต่วันต่อมา ตัวเลขกลับพุ่งกลับไปที่ตัวเลข "หลักร้อย" และแม้ระบบการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทย จะได้รับการยอมรับ สร้างความอุ่นใจให้กับพี่น้องประชาชน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลก แต่ก็ดูเหมือนว่า รัฐบาลของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เองยังคงหาทางรับมือและยึดข้อปฏิบัติตามกรอบเดิม เรียกว่าไม่ยอมให้ "การ์ดตก" เพราะไม่เช่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมด ที่ทำให้ไทยได้รับการยอมรับ จากต่างประเทศอาจต้องกลับไป "นับหนึ่ง" กันใหม่ทั้งหมด ! มาตรการที่พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ สั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มไปจนถึงตี 4 ได้ถูกประเมินจากการประชุมศบค.ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ออกแล้วว่า จะยังไม่มีการ "ขยายเวลา" ออกไปตามที่มีกระแสข่าวสะพัดมาก่อนหน้านี้ แต่อย่างใด การขยายเวลาเคอร์ฟิวอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไปจนถึงสร้างผลกระทบต่อการทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย ซ้ำเติมเข้าไปเมื่อก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน เอาไว้ที่ระหว่าง 4 ทุ่มถึงตี4 ซึ่งอาจทำให้มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการออกมาตรการต่างๆ มีอันต้อง ชะงักไปด้วย จนทำให้เกิดปัญหาซ้อนกับปัญหาขึ้นมา อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลอยู่ในระยะรักษาการ์ด ไม่ให้ตกลงไป จึงต้องออกมาตรการทั้งป้องกัน และ "ปิดทาง" ปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อให้เดินหน้า รองรับปัญหาการแพร่ระบาดไปได้โดยไม่สะดุด ให้มากที่สุด มาตรการที่รัฐบาลวางกรอบเวลาเอาไว้ตามเดิม กำลังดำเนินไปภายใต้ความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์หน้า จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยนั่นหมายความว่านี่อาจเป็นจังหวะที่ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชน ทั้งในกทม.และเดินทางกลับต่างจังหวัด แม้รัฐบาลจะไม่ประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการก็ตาม การประกาศของกทม. ที่ห้ามไม่ให้จำหน่ายสุรา ระหว่างวันที่ 10-20 เม.ย.นี้ คือการออกข้อห้ามเพื่อป้องกันให้ทันต่อสถานการณ์ เช่นเดียวกับกันที่มีหลายจังหวัดได้นำร่อง ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งการใช้กฎหมายเพื่อ "หยุดเฟคนิวส์" อันเป็นสิ่งที่ก่อกวนการทำงาน ของรัฐบาล สร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้นในสังคม จึงได้ถูกดำเนินการด้วยกฎหมาย จับมือโพสต์ข่าวลือประกาศเคอร์ฟิว 24ชั่วโมง ด้วยกันทั้งสิ้น 3ราย ในห้วงเวลานี้จะเป็น โอกาสหรือจะพาประเทศวนกลับไปสู่วิกฤติระลอกใหม่ ล้วนเป็นนาที พิสูจน์ฝีมือรัฐบาล ว่า "เอาอยู่"ได้จริงหรือไม่ !?