ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายก็ยังมีข่าวดีบ้าง เมื่อพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. รวมทั้งการประกาศให้ประชาชนระวังป้องกัน แม้อยู่ในบ้านก็ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกันให้น้อยลง กระนั้น ยังพบข่าวการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว รวมทั้งกระทำความผิดอื่นๆ เช่น มั่วสุมเสพยาเสพติด ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวด้วย ขณะที่ปัญหาเรื่องของการปกปิดข้อมูลอาการป่วย หรือการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ยังเป็นปัญหาที่สร้างความลำบากต่อสถานการณ์ในขณะนี้ ที่นอกจากตัวผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับการรักษาล่าช้า และเป็นอันตรายถึงชีวิตแล้ว ในส่วนบุคคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องเองก็มีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลความเสี่ยงของคนไข้ หรือผู้ที่เข้ารับการรักษา และเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อตกเป็นเหยื่อโควิดเสียเอง ก็จะส่งกระทบถึงภาพรวมของระบบสาธารณสุข ที่กำลังของบุคคลากรลดลง เช่นกรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกส่งเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก่อนเสียชีวิตมีการปกปิดข้อมูลการสัมผัสสถานที่ และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด หลังรักษาตัวไประยะหนึ่ง แพทย์พบมีอาการคล้ายติดเชื้อโควิด -19 จึงซักประวัติอย่างละเอียดอีกครั้งจนทราบก่อนเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยรายนี้ไปสัมผัสท่องเที่ยวอยู่ที่สถานบันเทิง และเดินทางมาจากประเทศมาเลเซียก่อนเข้ามาภูเก็ต ซึ่งแพทย์ทำการตรวจโรคจนพบว่าชายหนุ่มดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 จริงจนต้องมีการกักตัวเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 112 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผลออกมาแล้วจำนวน 94 รายไม่ติดเชื้อโควิด-19 ที่เหลือยังรอผลตรวจ แต่อย่างไรก็ตามบุคลากรเหล่านี้ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ส่วนผู้ป่วยรายดังกล่าวหลังทำการรักษาได้ 10 วัน ได้เสียชีวิตลง จะเห็นได้ว่า กรณีนี้กรณีเดียวต้องกักตัวบุคคลากรทางการแพทย์ถึง 112 ราย ซึ่งทำให้ขาดกำลังในการต่อสู้กับโควิดในยามวิกฤติ จนมีการแชร์ในโลกออนไลน์ ถึงแนวคิดที่จะต้องให้ผู้ป่วยสาบานว่าจะไม่ปิดบังประวัติที่จุดคัดกรองเลยทีเดียว นอกจากนี้การไม่เคร่งครัดในการกักตัวเพราะเข้าใจว่าไม่มีอาการจะไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศก็ยังเป็นปัญหา กระทั่งนำเชื้อไปแพร่ให้กับคนใกล้ชิด โดยข้อมูลจาก ผศ.นพ.(พิเศษ)โอภาส พุทธเจริญ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ ระบุถึงการส่งผ่านเชื้อแบบไม่ได้ตั้งใจให้คนรอบข้าง การติดต่อของโรคโควิดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เดิมเคยเชื่อว่าการติดต่อเกิดหลังจากที่คนไข้มีอาการแล้วเหมือนโรค SARSแต่ข้อมูลในปัจจุบันเชื้อไวรัสนี้อาจติดต่อผ่านได้จากคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือก่อนที่จะมีอาการ (asymptomatic transmission และ presymptomatic transmission)ดังนั้นหากกลับมาจากต่างประเทศแม้ว่าไม่มีความผิดปกติอะไรเลยควรกักตัวอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน อย่าเข้าใจว่าไม่มีอาการคือไม่ติดเชื้อ “เคสคุณป้าคนหนึ่งอยู่บ้านสบายดี ติดเชื้อโควิดจากลูกสาวที่เดินทางมาจากต่างประเทศแต่ไม่ระวังเรื่องการกักตัวเพราะคิดว่าตัวเองยังไม่มีอาการไม่น่าป่วย เลยไปอยู่ด้วยกันตามปกติ แต่แยกตัวออกไปหลังจากที่ลูกสาวเริ่มมีอาการเหมือนเป็นหวัด แต่ก็ไม่ทันการ วันที่มาตรวจคุณป้ามีอาการคล้ายเป็นหวัดมา 6 วัน เอกซเรย์ปอดยังปกติ อีกวันถัดมาอาการปอดอักเสบชัดขึ้น คนไข้หายใจเหนื่อยจนระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็วและใส่ท่อช่วยหายใจ ย้ายเข้าห้องไอซียู คนไข้อาการหนักมาก เข้าใจความรู้สึกของลูกที่รู้ทีหลังว่าแม่ตัวเองต้องมานอนไอซียูเพราะไม่ระวังเรื่องการกักตัว” อย่างไรก็ตาม หากไม่ปกปิดและกักตัวเองอย่างเคร่งครัด ก็เชื่อว่าโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะลดลงได้อีก นอกจากจะปรบมือให้กำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายแล้ว ประชาชนต้องปรบมือให้กำลังใจตัวเอง ที่ระมัดระวัง ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด และซื่อสัตย์