สถานการณ์สามารถสร้างวีรบุรุษได้ฉันใด วิกฤติจากการระบาดเชื้อไวรัสโควิด ที่กำลังโจมตีทั่วโลกในเวลานี้ก็สามารถ หยิบยื่นโอกาสให้ใครบางคนได้สร้าง "ผลงาน" ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ ที่พบว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งไปกว่า 2พันราย จากรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นโจทย์ที่เร่งเร้าให้ "ประชาชน" ทุกคนต้องตระหนกและปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่เชื้อทางการแพทย์ที่มีการวางหลักเกณฑ์กันเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระยะห่างทางสังคม หรือการสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อออกนอกบ้าน หรือไปในที่ชุมชน ขณะที่รัฐบาลของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง ได้ลงมา "ขันน็อต" การปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนด้วยตัวเอง ทั้งการออกคำสั่งต่างๆ ไปจนถึงการใช้มาตรการทางกฎหมาย ผ่านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะยกระดับบังคับใช้ทั่วประเทศ ต่อมา ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวจาก "สภาสูง" เมื่อ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานวุฒิสภา ได้หารือร่วมกับ "รองประธานวุฒิสภา" แล้วเคาะออกมาว่าขอความร่วมมือจากส.ว.สละเงินเดือน เพื่อสมทบเข้ากองทุนบรรเทาทุกข์ประชาชนในการแก้ปัญหาแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 โดยจะขอหักเงินเข้ากองทุนรายละ 5หมื่นบาทเริ่มในช่วงเดือนเม.ย.นี้เลย แม้จะเป็นความเคลื่อนไหวจากสภาสูง ที่ดูเงียบเหงา มาโดยตลอด ก็ยังเกิดปฏิกริยาทั้งบวกและลบตามมา โดยไม่ทันได้ข้ามวัน ! เพราะเกิดความเห็นที่แตกต่างกันเอง ระหว่างส.ว.ด้วยกัน เมื่อมีส.ว.บางราย ประกาศเลยว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ส.ว.แต่ละคนหักเงินเดือนเข้ากองทุนสู้โควิดเพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะส.ว.ไม่ได้ร่ำรวยกันทุกคน ขณะที่มีส.ว. จำนวนไม่น้อยต่างออกมาขานรับ แสดงจุดยืนว่ายินดีที่สละเงินเดือนเพื่อช่วยเหลือบ้านเมืองในยามวิกฤติเช่นนี้ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าแนวคิดเรื่องเสนอให้หักเงินเดือนส.ว.เข้ากองทุนสู้โควิด ครั้งนี้ ยังส่งแรงกระทบไปยัง "สภาล่าง" ในคราวเดียวกัน เมื่อเกิดคำถามว่า แล้วส.ส.จะไม่เสียสละเงินเดือนบ้างเลยหรือ ? ล่าสุด "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแสดงท่าทีแล้วว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการหักเงินส.ส. เพราะที่ผ่านมา ส.ส.ก็ลงพื้นที่ และใช้เงินส่วนตัวช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะช่วงไวรัสโควิด -19 ระบาด เมื่อความเห็นแตกต่าง เมื่อ "เสียงแตก" ออกไปคนละทาง สองทางเช่นนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ในท่ามกลางสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังต้องการความร่วมมือ ความช่วยเหลือจากทุกคน ทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ส.ส.และส.ว. ซึ่งได้รับเงินเดือนคนละกว่า1แสนบาท โดยที่เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ ใดๆ จะแสดงบทบาทเช่นใด สถานการณ์อันยากลำบาก ย่อมสามารถสร้างได้ทั้ง "วีรบุรุษ" ยัง "ได้ใจ" จากพี่น้องประชาชนเช่นนี้ จะมีใครแปรเปลี่ยนให้ "โอกาส" กลายเป็น "วิกฤติ" เปิดเผยตัวตนได้หรือไม่ เช่นเดียวกับประชาชนเอง ที่จะได้ใช้โอกาสนี้ "ศึกษา" ผู้แทนฯ และส.ว. หากในวันข้างหน้าต้องมีการตัดสินใจทางการเมือง ลงคะแนนกันอีกรอบ!