ผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังลุกลมไปทั่วโลก เช่นเดียวกับสึนามิเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้าใส่ในหลายประเทศ ข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) รายงานประเมินผล กระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า สถานการณ์แพร่ระบาด สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้มากถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบเท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตรวมของทั้งโลก เอดีบีประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะอยู่ที่ระดับ 2.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การขยายตัว 1.7 เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540-2541 ส่วนจีนจะขยายตัวเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 6.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่ผ่านมา เท่ากับว่าจีนชาติเดียวจะเสียหายมากถึงเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีหรือราว 628,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดนี้ยังไม่อาจประเมนได้ว่าขยายวงกว้างแค่ไหนและยาวนานเท่าใด อีกทั้งอาจจะกลับมาระบาดใหม่อีกในปีหน้า ขณะที่ดัชนีพีเอ็มไป หรือดัชนีคำสั่งซื้อของผู้จัดการ ที่ไอเอชเอส มาร์กิต บริษัทวิจัยได้ จัดทำดัชนีขึ้นมาวัดผลกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ยูโรโซน ระบุว่า ดัชนีพีเอ็มไอของทุกประเทศทรุดตัวลงอย่างหนัก จนถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ทั้ง 19 ประเทศ โดยดัชนีรวมในเดือนมีนาคม ลงมาอยู่ที่ 29.7 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่มาร์กิตประเมินเอาไว้ที่ 31.4 จุด และต่ำกว่าระดับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ที่ 51.6 จุด อยู่มาก ทั้งนี้ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 4 ชาติในยูโรโซน อยู่ในสภาพตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์กันทั้งสิ้น โดยอิตาลีกับสเปน ทรุดตัวลงมากที่สุด ในขณะที่พีเอ็มไอในไอร์แลนด์อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 131 สัปดาห์ ส่วนในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, สเปน และอิตาลี อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจ อย่างไรก็ตาม พี่ใหญ่อย่างสหรัฐ เมื่อต้องเผชิญกับสงครามโควิด-19 ทำให้ชาวอเมริกัน 10 ล้านคน ต้องออกจากงาน ภายในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ถือเป็นการลดลงของตัวเลขการว่าจ้างงานในสหรัฐครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 6.6 ล้านคน ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งแจกเงินเพื่อชดเชยรายได้ รวมทั้งการเพิ่มเงินประกันการว่างงาน และการผ่อนผันการชำระหนี้สินเพื่อการศึกษา ด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้สูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อหันมาดูประเทศไทยเรา พบว่า เพียงแค่เดือนเดียวคือในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์กรณีว่างงานแล้ว 144,861 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 84,177 คน และเดือนมกราคม จำนวน 74,775 คน คิดเป็น 41.89 % และ 48.38 % ตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาออกมาชุดใหญ่ ทั้งสำหรับประชาชน ผู้ประกอบการ แรงงานแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ภายใต้คำสั่งเคอร์ฟิวที่ยกระดับการบังคับทางสังคมขึ้นมาเป็นลำดับ ที่ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยที่ยังไม่รู้ว่าภายใต้การควบคุมของพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ จะสามารถหยุดเชื้อได้หรือไม่ กระนั้น ในห้วงเวลานี้เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะเร่งผูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่จนไม่มีโรงพยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์รองรับ นอกจากหวังให้มาตรการต่างๆที่ออกมาสัมฤทธิ์ผลโดยเร็วแล้ว ยังต้องมองไปข้างหน้าเพื่อหามาตรการรองรับกรณีที่ผลไม่เป็นดั่งที่ตั้งใจ เร่งพิชิตโควิดก่อนเศรษฐกิจจะเข้าไอซียู