แก้วกานต์ กองโชค การคัดค้านอย่างมากมายกฎหมายควบคุมสื่อ ทำให้สังคมเกิดคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ต่อ สปท. โดยมีสาระสำคัญ คือ “กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการด้วย มีอำนาจออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุก” องค์กรสื่อเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเปิดช่องทางให้รัฐยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ โดยเฉพาะประเด็นการออกใบอนุญาตถูกมองว่าเป็นการตีทะเบียนกดหัวสื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านในวงกว้าง โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงการคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยระบุว่า “ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ดังกล่าว มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ ทั้งนี้ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐและเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน” สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพืแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ระบุว่า - กำหนดให้การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนต้องไปจดแจ้งกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ -ให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” โดยให้มีอำนาจขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนในอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและรับคำร้องอุทธรณ์ในกรณีผู้เสียหายอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรวิชาชีพ -คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ 5 คน ปลัดกระทรวง 4 คนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการคลัง แล้วไปเลือกกกรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน รวมเป็น 13 คน -สภาสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจสั่งปรับองค์กรสื่อมวลชนต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสภาฯ ในอัตราสูงสุดถึง 150,000 บาท รวมทั้งประเมินผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า 1. การให้อำนาจแก่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติในการขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงการสั่งปรับในอัตราที่สูง ทำให้มีโอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการใช้อำนาจนี้ผ่านตัวแทนของภาครัฐและกลุ่มจัดตั้งที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพแห่งชาติ 2. เมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการใช้อำนาจในการขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพฯ ก็จะทำให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกแทรกแซง ถูกข่มขู่โดยใช้กฎหมายนี้มาเล่นงานไม่ให้ทำหน้าที่เสนอข่าวได้อย่างอิสระ ประชาชนก็จะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างเต็มที่และรอบด้าน 3. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกรงกลัวกฎหมายนี้ ก็จะไม่กล้าทำหน้าที่ของตนอย่างมีอิสระ ทำให้กระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน นี่คือ ประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกำหนดโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มาจากภาครัฐ ทำให้ไม่มีใครสามารถให้ความไว้วางใจได้ ตราบใดที่แนวคิดคและกระบวนการทำงานของภาครัฐ ยังไม่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมสื่อก็ต้องตรวจสอบการทำงานเหล่านั้น โดยอิสระ ปราศจากการสั่งการหรือแทรกแซงจาก “การเมือง”โดยทำงานกันคนละฟากถนน แต่เพื่อเป้าหมายเดียวกัน....เป็นอำนาจคนละด้านกัน มิเช่นนั้น คงเห็นนักข่าวคงต้องเดินถือกระเป๋าให้นักการเมืองจนชินตา จนกลายเป็นอำนาจเดียวกัน !!!