ในภาวะวิกฤตการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐยกระดับความเข้มข้นและรุนแรงของมาตรการบังคับทางสังคม ผ่านทางพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ล่าสุดประกาศเคอร์ฟิว 22.00 -04.00 น. ก็เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ กระนั้น แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันตัวเลขของผู้ที่หายจากอาการป่วยก็ไม่น้อย มีความเห็นจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนให้ผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บริจาคพลาสมา หรือน้ำเหลืองให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยโควิ-19 ที่มีอาการมาก เนื่องจากภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเปรียบเสมือนเป็นเซรุ่มใช้รักษาโรค โดยผู้ที่จะมาบริจาคได้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้ออกจากโรงพยาบาลหายแล้วมีร่างกายแข็งแรงแล้วอย่างน้อย 14 วัน ตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ที่ป้ายจากคอ และในเลือด มีอายุระหว่าง 17 ถึง 60 ปี และมีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม “ผมในฐานะเป็นที่ปรึกษาของศูนย์บริการโลหิต อยากให้ท่านได้เป็นฮีโร่ในการทำประโยชน์ให้ต่อมวลมนุษย์ ในการช่วยชีวิตผู้ที่ป่วยหนักโควิด-19 จึงอยากเชิญชวนผู้ที่หายจากโรคแล้วตามเงื่อนไขดังกล่าว มาบริจาคพลาสมา โดยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย” ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา ได้โพสต์ข้อความนำเสนอแนวคิดของ ศ.พญ จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้เป็นภรรยา ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ ให้นำผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ออกจากโรงพยาบาล มีภูมิคุ้มกันแล้ว และ ไม่มีโควิด-19 แล้ว มาเป็น “แนวหน้า” ในการทำให้สังคมไทยกลับเป็นปกติโดยเร็วอย่าช้าเกินไป “เธอบอกว่า คนเหล่านี้ใช้ชีวิตปกติได้แล้ว ทำงานต่างๆ รวมทั้งงานในโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว (ถ้าเราจะเตรียมเปิด) ค้าขายได้แล้วออกมาทำงานด้านสาธารณะต่างๆ เช่น ขับรถสาธารณะ ดูแลคนป่วย ผู้สูงอายุ ได้แล้ว ขายอาหาร และอื่นๆ ได้แล้ว เธอเสนอไอเดียให้ รีบเอาเขาออกมาทำงาน เพื่อช่วยผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า เราไม่ควรปล่อยให้ เสียของ คือ “มึนๆ งงๆ ให้เขานอนอยู่กับบ้านเฉยๆ หรือ กักตัวเขาไว้ในบ้านเหมือนคนอื่นๆ” นายเอนก ยอมรับผ่านข้อเขียนในเพจเฟซบุ๊กว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคงต้องมีรายละเอียดตามมาด้วยความคิดเช่นนี้จึงจะไปสู่การปฏิบัติได้ ซึ่งคงไม่ง่าย แต่ก็น่าจะไม่ยาก อะไรดีๆในโลกที่มี ที่ทำกันมาได้นั้น ! อย่าลืม!เกิดจาก ความคิด ก่อนเสมอ ในบางครั้ง ทำหน่ะมันง่าย ซ้ำๆ เดิมๆ ก็ทำไปแต่คิดให้เกิดอะไรขึ้นมาใหม่นั้น แสนจะยาก ฉะนั้นเมื่อเกิดความคิดใหม่ๆ เชิงรุกคืน บ้าง อย่าตั้งรับเพียงเท่านั้น รีบไปชิงเอาประเทศไทยปกติ คืนมาโดยเร็ว” เราเห็นว่าความเคลื่อนไหวของสภากาชาดไทย และแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่จะกอบกู้สภาพสังคมและเศรษฐกิจด้วยผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 นั้น เป็นความหวังดั่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ต่อยอดแรงบันดาลใจไปสู่กลยุทธ์และการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และมีประสิทธิภาพ เพราะในกลศึกสงครามโควิด นอกจากการตั้งรับที่ดีแล้วต้องมีเชิงรุกที่ล้ำลึกเพื่อสยบศัตรู