ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ไวรัสโควิด-19 ยังขยายวงเพิ่มขึ้นไปยังต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจะสามารถหยุดการแพร่เชื้อได้หรือไม่ จากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และ “social distancing” รวมถึงเคอร์ฟิวทั่วประเทศ 22.00-04.00 น.น่าจะส่งผลในระยะ 2-3 สัปดาห์นี้ รัฐทุ่มจนเงินงบกลางหมดหน้าตักประมาณ 9.6 หมื่นล้าน ซึ่งคงยังไม่พอ เพราะรัฐต้องจ่ายค่าเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากที่คาดการณ์ไว้ 9 ล้านคน มีผู้คนไปลงทะเบียนกว่า 22 ล้านคน และคงมีเพิ่มเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลคงต้องสกรีนให้ดี แต่ถึงอย่างไรจำนวนผู้ลงทะเบียนคงไม่ลดลงมากกว่านี้ รัฐบาลต้องเร่งกู้เงิน 2 แสนล้านมาเตรียมไว้ รวมถึงงบประมาณจากหน่วยงานรัฐอีกแห่งละ 10% เป็นเงิน 3.2 แสนล้าน โควิด-19 ส่งผลต่อการจ้างงานในปัจจุบันไปมาก เพราะสถานประกอบการชะลอการผลิต ถึงกับหยุดผลิตและปิดกิจการอีกมาก แรงงานนับล้านๆ คนต้องกลับบ้านต่างจังหวัดไปกระจายเชื้อให้ญาติโยมกันต่อ แต่ถ้าดูจากงานใหม่ในอนาคตโดยเฉพาะ EEC เป็นห่วงอยู่ว่าใครจะผลิต เพราะมีเพียงสัตหีบโมเดลที่ยกระดับอาชีวศึกษาร่วมผลิตบุคลากรไม่กี่แห่ง แต่ละแห่งสามารถผลิตได้เพียงปีละไม่กี่ร้อยคน ส่งผลให้ศักยภาพแรงงานไทยไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในอนาคต หากจะดูความต้องการของแรงงานในอนาคตมีความต้องการสูงมากทั้งใน trend ของ S-Curve เก่า และ S-Curve ใหม่ เอาเฉพาะใน EEC ก็มากพอที่จะหาแหล่งผลิตไม่ทันการ เช่น โลจิสติกส์ 109,910 คน ดิจิตัล 116,222 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 28,235 คน และยานยนต์แห่งอนาคต 53,738 คน รวม 7 อุตสาหกรรมเป้าหมายและอีก 3 โครงสร้างพื้นฐาน รวม 475,674 ตำแหน่ง ทั้งหมดนี้แบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษา ต้องผลิตเฉพาะใน EEC 155,806 คน นอก EEC 66,755 คน รวม 222,561 คน และสถาบันอาชีวศึกษาใน EEC 177,187 คน นอก EEC 75,926 คน รวม 253,113 ทำให้หนักใจแทนรัฐบาลในการผลิตกำลังคน เพราะมีแต่อาชีวศึกษาเท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศออสเตรียในแบบสหกิจศึกษาโดยความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม น่าจะพอเบาใจไปได้บ้าง แต่ในระดับอุดมศึกษายังมองไม่เห็นว่ามหาวิทยาลัยใดจะสร้างคนได้รวดเร็วขนาดนั้น ในการประชุมค.ร.ม.วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอใช้งบ 4.7 พันล้าน โดยเป็นเงินกู้ 2,700 ล้าน จาก JICA เพื่อจัดระบบการบริหารจัดการและการให้ทุนแก่นักศึกษาอีก 2,000 ล้าน เป็นงบประมาณในการก่อสร้างวิทยาเขต “ไทยโคเซ็น” 2 แห่งคือที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการผลิตบุคลากรตามหลักสูตร ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น เพื่อเตรียมกำลังคนไว้สร้างความเชื่อมันแก่ภาคเอกชน แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาถึง 13 ปี (2563-2575) ก็ยังดีกว่าไม่มีสถาบันใดจะผลิตบุคลากรเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและนวัตกรรม มั่นใจว่าสถาบันทั้ง 2 แห่งของไทยมีความพร้อมในศักยภาพที่จะสร้างบุคลากรได้ดี เรียกว่ามาทันเวลาพอดี อย่างไรก็ดี ถึงประเทศไทยประสบปัญหาด้านแรงงานในยุคโควิด-19 แต่รัฐบาลมิได้ทอดทิ้งนโยบายในการผลิตกำลังคนไว้รองรับ เชื่อว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติได้มากและพร้อมจะลงทุน