ฉีดยาแรงกระตุ้นสังคมไทยอีกครั้ง สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการประกาศห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคห สถาน หรือ เคอร์ฟิว ระหว่างเวลา ประมาณ 22.00 น. – 04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ยกเว้นให้กับผู้มีความจำเป็น หรือผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศ เพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด (ฉบับที่1) หรือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศหรือคำสั่งต่างๆ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า เพราะยังสามารถออกไปซื้อของในเวลากลางวันได้ตามปกติ แต่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม รวมทั้งจะไม่ปล่อยให้ผู้ใดกักตุนสินค้า หรือฉวยโอกาส แสวงหาผลประโยชน์ซ้ำเติมความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดไปแล้วหลายรายซึ่งจะต้องรับโทษอย่างรุนแรง ซึ่งโทษของการกักตุนสินค้า คือจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุม ศบค. ว่าเพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ได้สั่งการให้กระทรวงต่างประเทศ ดำเนินการชะลอคนต่างชาติและคนไทย ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนคนที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางกลับให้ติดต่อสถานทูตนั้นๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเข้มงวดที่สุด ซึ่งมาตรการนี้ คนที่เดินทางจากต่างประเทศมีความเสี่ยง เพราะมีโรคระบาดนั้น กระทรวงสาธารณสุขเสนอมาตรการให้มีการเฝ้าระวังดูอาการก่อนขึ้นเครื่องบินกลับมา ให้มีการกักตัว ดูอาการ 14 วันว่าไม่ป่วย ไม่มีไข้ก่อนขึ้นเครื่องถึงเดินทางได้ หากเริ่มป่วยต้องรักษาให้หายก่อน เพราะการเดินทางขณะป่วยเป็นความเสี่ยง ซึ่งปกติคนเดินทางกลับประเทศไทยขณะนี้จะมีการลงทะเบียนที่สถานทูต การเริ่มลงทะเบียนจะรู้ว่ามีความตั้งใจกลับวันใด ติดตามดูอาการป่วยหรือไม่ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกว่า 200 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อใน กทม.และนนทบุรี มีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดมีตัวเลขเพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นนี้ต้องหาสาเหตุต่อไป โดยนายกฯมีความห่วงใยว่าเมื่อไรตัวเลขผู้ติดเชื้อจะคงที่ หรือลดลงกว่าเดิม แม้ใน กทม.และนนทบุรีจะดีกว่าเมื่อก่อน แต่ยังดีไม่พอ ยังเป็นระดับร้อยอ นั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรี ต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการ แม้จะไม่เกินความคาดหมายก่อนหน้านี้ อีกทั้งมีการนำเสนอความเห็นจากทั้งอาจารย์หมอ กระทั่งนักกิจกรรมทางการเมืองเอง ที่ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากไม่สามารถสกัดการเดินทางและการกิจกรรมสังสรรค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนได้ ทั้งนี้ เราหวังว่ามาตรการนี้จะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการยกระดับใช้ยาแรงนั้น หากยังเอาไม่อยู่จะกลายเป็นแค่ยาชาที่สุดท้ายก็จะเกิดอาการดื้อยา