ในสมรภูมิรบเชื้อมฤตยูล้างโลก ที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่นี้ ไม่เพียงแต่ต้องสังเวยชีวิตประชากรในหลายประเทศ หากแต่พลังทำลายล้างยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคม ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ฝากบาดแผลฉกรรจ์เอาไว้
นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก เปิดเผยว่า หลายชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเผชิญกับภาวะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศและการระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังเผชิญกับภาวะชะงักงันระดับโลก ข่าวดีก็คือภูมิภาคนี้ยังคงมีจุดแข็ง แต่บางประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการรับมืออย่างรวดเร็วและเข้มข้นกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยและกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และกลุ่มภาคการผลิตในเวียดนามและกัมพูชา
สำหรับเศรษฐกิจของไทยนั้น ในมุมมองของธนาคารโลก เห็นว่ามีปัญหามาตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และภัยแล้ง กดดันให้ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย ต่อเนื่องมาถึงปีนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 16 ของจีดีพี ก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนตลาดหลักทรัพย์ของไทยนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยลดลงถึงร้อยละ 30.8
ขณะที่นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวจากระยะเดียวกันของปี 2562 โดยการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวติดลบสูงถึง 42.6% การส่งออกโดยรวมยังขยายตัวได้ 3.6% แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำจะติดลบ 1.3% และการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของจีน ส่งผลให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 5,400 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวและราคาน้ำมันที่ลดลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและรายจ่ายรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้า อุปโภคบริโภคที่จำเป็น ส่วนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนอ่อนแอมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งประเด็นที่ยังต้องติดตามใกล้ชิดคือปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบไปถึงภาคการผลิตด้วย ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนตามราคาพลังงานที่ลดลง ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะเป็นผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร
“ประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดว่า ทั้งปีจะติดลบ 5.3% นั้น เป็นการหดตัวทุกไตรมาสและหดตัวลึกสุดไตรมาส 2 โดยรวมสมมติฐานการหดตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะไตรมาส 2 อาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้นไตรมาส 3 และ 4 แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีการระบาดของประเทศอื่น ขณะที่ปี 2564 ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถโงหัวขึ้นได้ในห้วงเวลานี้ กราฟจึงดิ่งหัวลงเรื่อยๆ และหากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลง หรือเป็นศูนย์ได้ในระยะเวลาที่ประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ภายในวันที 30 เมษายน 2563 ที่จะถึงนี้ หากต้องประกาศต่ออายุพระราชกำหนดฯ ก็จะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ
ประชาชนคนไทย จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ แม้ว่าจะต้องยกระดับความเข้มข้นและรุนแรงขึ้น เพื่อให้สถานการณ์จบลงโดยเร็วที่สุด