ทวี สุรฤทธิกุล ร.5 ทรงเป็น “ประชาราช” ไม่ใช่ “เทวราช” ระบบไพร่และทาสที่สิ้นสุดลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย “อย่างหลังมือเป็นหน้ามือ” ทั้งของประชาชนและพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ในด้านของประชาชน การสิ้นสุดของระบบไพร่และทาสได้ทำให้คนไทยมีสถานภาพทางสังคมที่สูงขึ้น จากความเป็น “ขี้ข้า” ในระบบศักดินาเก่าที่ดำเนินมากว่า 400 ปี ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มาสู่ความเป็น “ราษฎร” ในสมัยเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ที่ทรงต้องการให้สังคมไทยพ้นจากการเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน อย่างที่ฝรั่งใช้อ้างในการล่าเมืองขึ้น คำว่า “ราษฎร” ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนาทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมาแต่โบราณ ปราชญ์ด้านภาษาท่านอธิบายว่ามีความหมายถึง “ผู้อยู่ใต้ปกครอง” คือคนที่ต้องมีกลุ่มมีพวกและมีหัวหน้าดูแลกันเป็นกลุ่มๆ ทั้งนี้ในสังคมอินเดียโบราณจะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ เพื่อทำการเกษตรต่างๆ เลี่ยงสัตว์บ้าง ทำไร่ทำนาบ้าง แล้วก็จะมีมีหัวหน้าดูแลคนแต่ละกลุ่ม มีตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ ที่เป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน คุ้ม แขวง ไปจนถึงกลุ่มใหญ่ๆ ที่เป็นเมืองหรือแว่นแคว้น ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปรมาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองการปกครองไทย บอกว่าการปกครองของไทยนั้นรับเอามาจากอินเดียอย่างแน่นอน อย่างระบอบเทวราชาที่เรารับเอามาจากฮินดู กษัตริย์นั้นต้องเป็นนักรบเพื่อคุ้มครองการทำมาหากินให้กับราษฎรนั่นเอง รวมถึงต้องเป็นผู้นำในการทำการเกษตรนั้นด้วย อย่างในเรื่องรามเกียรติที่เป็นเทวตำนานจากศาสนาฮินดู พระชนกที่เป็นผู้พบนางสีดา ก็เกิดจากการที่พระองค์ทรงออกไปไถนา แล้วผาลไถก็ดุนไปโดนผอบที่บรรจุนางสีดานั้น ประเพณีที่กษัตริย์ต้องทำการเกษตรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับอาณาประชาราษฎร์นี้ ยังปรากฏอยู่ในพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่พระมหากษัตริย์ไทยเราก็ยังทรงรักษาพระราชประเพณีนี้ไว้ ซึ่งก็เป็นพระราชประเพณีอันเนื่องมาจากศาสนาฮินดูที่ไทยรับมาจากเขมรตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา (ทุกวันนี้เห็นจะมีแต่ประเทศไทยและกัมพูชาเท่านั้นที่ยังคงรักษาพระราชประเพณีนี้ไว้) แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้มี “พระยาแรกนา” (“แรก” เป็นภาษาเขมร มาจากคำว่า ชำแรก แปลว่า ไถลงไปในดิน) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทำหน้าที่ในการไถนาแทนพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ราษฎรที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนานั่นเอง อย่างที่มีคำว่า “ขวัญ” ประกอบอยู่ในชื่อพระราชประเพณีนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังกล่าวถึงสังคมอินเดียครั้งพุทธกาลว่า พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของพระพุทะเจ้านั้นก็เป็นชาวนาเช่นกัน แต่ทรงมีฐานะเป็น “พระราชา” เพราะทรงปกครองแคว้นสักกะซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับพระราชาในดินแดนใกล้เคียงกัน ทั้งยังต้องออกทำนาเหมือนราษฎรทั้งหลาย แต่ด้วยฐานะผู้ปกครองเพื่อให้ราษฎรมีขวัญและกำลังใจ มากกว่าที่จะทำนาเป็นอาชีพดั่งบรรพบุรุษที่เคยทำมาแต่เดิม ซึ่งเป็นการแสดงว่าพระมหากษัตริย์กับราษฎรนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างน้อยก็ในด้านอาชีพหรือการทำมาหากิน ซึ่งผู้ที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าจะต้องเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างแน่นแฟ้น คำว่า “ราษฎร” นี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า “พลเมืองของประเทศ” และคำว่า “พลเมือง” หมายถึง “ประชาชน, ราษฎร, คนของประเทศ” ฟังดูก็อาจจะดูพัวพันกันวกวน แต่ถ้าเราทราบความเป็นมาของคำว่าราษฎรที่มีมาแต่สังคมโบราณดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็น่าจะทำให้เราอนุมาน(คือเทียบเคียงหรือตีความ)ได้ว่า การที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำคำนี้มาใช้ในรัชสมัยของพระองค์ภายหลังจากที่ทรงเลิกทาสและเลิกระบบไพร่แล้วนั้น น่าจะทรงมีพระราชประสงค์ให้พระมหากษัตริย์มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ตามนัยที่พระมหากษัตริย์กับราษฎรก็ร่วมอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน และต้องช่วยเหลือกันในการทำมาหากิน แม้จะพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นเพียงผู้สร้างขวัญและกำลังใจ แต่คนไทยก็มีความรู้สึกร่มเย็นและมั่นคงขึ้น ภายใต้ร่มพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณนั้น มีนักวิชาการบางกลุ่มวิเคราะห์ว่า การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องของการเมืองภายใน หรือเพื่อต้องการลดทอนอำนาจของขุนนาง แล้วเพิ่มให้พระราชอำนาจนั้นเพิ่มพูนมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะมีส่วนที่ถูกต้องอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช้พระราชปณิธาน(แปลว่าความมุ่งหวัง)ที่แท้จริงของพระองค์ เพราะการลดทอนอำนาจขุนนาง รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ระบบการตั้ง “หอรัษฎากรพิพัฒน์” เข้าจัดการในเรื่องนี้ก่อน คือในทันทีที่ทรงมีพระราชอำนาจเต็มในปีที่ทรงได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วใน พ.ศ. 2416 ที่ทรงมีพระชนมายุได้ 20 ปีนั้น โดยล้มเลิกระบบ “เจ้าภาษีนายอากร” ที่เคยให้ขุนนางและพ่อค้าประมูลกันไปจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ เข้าท้องพระคลัง ซึ่งปรากฏว่ามี “การตกหล่น – เข้าพกเข้าห่อ” ทำให้ขุนนางและพ่อค้าเหล่านั้นกลายเป็นผู้มีอิทธิพล แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือเกิดระบบ “การรีดนาทาเร้น” กดขี่เอากับราษฎร นี่เองที่ทำให้ทรงได้พระราชสมัญญาว่า “พระปิยะมหาราช” ที่แปลว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของประชาชน” เพราะทรงปกครองประเทศด้วยความรักที่มีต่อราษฎรจนหมดพระราชหฤทัย