วันศุกร์นี้ที่ 3 เม.ย. “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องเร่งด่วน อันเนื่องมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และน่าสนใจว่าการประชุมครม.นัดพิเศษ ครั้งนี้จะไม่ใช้วิธีการประชุมผ่านระบบVideo Conference แต่จะเป็นการประชุมแบบเต็มคณะ ! โดยมีวาระที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ได้แก่ การรับฟังข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ สิ่งที่จะออกเป็นมาตรการเยียวยาในระยะ 3 และ 4 สำหรับช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ต่อไป และประการต่อมา คือจะหารือเรื่องงบประมาณ กรอบวงเงิน จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินจากที่ต่างๆ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ออกมายังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก ทั้งต่อตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองไปจนถึง คณะทำงานทั้งฝ่ายบริหาร ไปจนถึง “ทีมคณะแพทย์” ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาระดับ “วงใน” โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของวันที่ 1 เม.ย.พบว่าประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 120 ราย ยอดสะสม 1,771 ราย เสียชีวิต 2 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย ! จะเห็นได้ว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งประกาศใช้ “ยาแรง” ทั้งการพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคู่ไปกับการให้ “อำนาจ” แก่ “ผู้ว่าราชการ” ทุกจังหวัด ดำเนินการและตัดสินใจประกาศมาตรการต่างๆออกมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ในหลายจังหวัดแล้วก็ตาม การกรณีที่หลายจังหวัดได้มีประกาศ กำหนดเวลาเข้า-ออก เคหะสถาน ไปจนถึงการกำหนดเวลาเปิด-ปิดของร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ เพื่อลดการรวมกลุ่มของผู้คน แต่ยังพบว่าในหลายจังหวัดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืน ที่ไม่เพียงแต่จะมีการรวมกลุ่มกันทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมกลุ่มกันจัดงานปาร์ตี้ ใช้ยาเสพติด ไม่เกรงกลัวต่อมาตรการใดๆ ตลอดหลายวันที่ผ่านมามีกระแสข่าวที่สะพัด วนเวียนว่าอาจมีการ “ปิดกทม.” เพราะการแพร่ระบาดยังไม่ลดลง แต่สุดท้ายแล้วทางรัฐบาลออกมายืนยันแล้วว่ายังไม่มีการตัดสินใจเดินไปถึงจุดที่จะต้องปิดเมืองกันแต่อย่างใด ทั้งนี้การประชุมครม.นัดพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 3เม.ย.นี้จึงไม่เพียงแต่จะต้องพิจารณามาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และการออกมาตรการต่างๆขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังดูเหมือนว่ารัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเร่งมือทำงานในทุกทาง เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากยืดเยื้อ ยาวนาวออกไปมากว่านี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่จะไม่สามารถ “รับได้” ยิ่งเมื่อเวลานี้ “บุคลากรทางการแพทย์” ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในด้านการแพทย์และสาธารณสุข นั้นไม่เพียงแต่เหนื่อยล้าจากงานหนักที่มีขึ้นมาก่อนหน้านี้ ได้กลายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสไปแล้วด้วยกันหลายราย ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเร่งทำงานเพื่อแข่งกับเวลา และทุกเงื่อนไขที่กำลังจะกลายเป็น “ปัจจัย” ดึงให้สถานการณ์ดิ่งลงไปสู่วิกฤติที่ยากลำบาก ในที่สุด !