สถาพร ศรีสัจจัง
ปรากฏการณ์ “โควิด-19” นำมาซึ่งอะไรๆมากมายหลายประการด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องการเรียนรู้ด้านต่างๆ ของผู้คน การเกิด “นวัตกรรมไ โน่นนี่ การพิสูจน์ทฤษฎี การเปลี่ยนวิธีคิด ( Method of Thinking) และการ “ฉวยโอกาส” ( opportunity) ในหลายเรื่องของคนหลายคน และ หลายกลุ่ม เป็นต้น
ท่ามกลางมหาวิบัติภัยที่เกิดจากการจู่โจมของ “เจ้าตัวจิ๋ว” ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของมุษย์ซึ่ง (มนุษย์นั่นแหละ!) ตั้งชื่อให้มันว่า “ไวรัส” ( Virus) ตัวที่บัดนี้ถูกมนุษย์มีมติร่วมกัน( โดยสิ่งที่เรียกว่า “องค์การสหประชาชาติ” หรือ “United Nation” ออกประกาศกำหนดให้เรียกเช่นนั้น!) ให้เรียกว่า “โควิด-19” ซึ่งถ้าจะสรุปให้ง่ายๆที่สุดแบบภาษา และความเข้าใจของชาวบ้านไทยทั่วไป ก็คือ “เชื้อหวัดพันธุ์ใหม่” ชนิดหนึ่งนั่นเอง!. ในท่ามกลางความเป็นไปดังกล่าวมี “ปรากฏการณ์” เกี่ยวกับ “คน” (Homosapien) มากมายเกิดขึ้น
บางทีอาจเป็นเพราะความง่ายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ความไร้ข้อจำกัดในการคิดที่เกิดจากทัศนะเรื่อง “ว่าด้วยเสรีภาพ” ของมนุษย์ (แบบตะวันตก) และความคุ้นชินต่อเรื่องการใช้ “สิทธิ” (แต่มักไม่รับรู้หรือคุ้นชินกับสิ่งที่เรียกว่า “หน้าที่”) ฯลฯ ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่โดยปกติก็มักจะสับสน เชื่อถือได้ยาก และ “ปลอม” มากอยู่แล้ว เกิดภาวะปั่นป่วนในหมู่ “คน” มากยิ่งขึ้น
ในช่วงยามแห่งความยากลำบากของมนุษยชาติเหล่านี้ นอกจากปรากฏการณ์ทางสังคมใหญ่ๆทั้งระดับโลกและระดับประเทศแล้ว เชื่อว่าในหน่วยย่อยของแต่ละครอบครัว แต่ละบุคคลก็น่าจะมีปรากฏการณ์หลายๆเรื่องที่น่าสนใจ
ข่าวการฆ่าตัวตายเพราะความเครียด ข่าวการทะเลาะเบาะแว้งกันของคนในครอบครัว ข่าวการเกิดความสามัคคีของกลุ่มคนฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นมากมายหลายสถานในยามนี้
น้องที่สนิทสนมมาแต่เก่าก่อนคนหนึ่ง โทร.มาถามข่าวคราวทุกข์สุข ทำนองห่วงใยในฐานะคนเคารพนับถือกันมานาน ลงท้ายด้วยการตั้งคำถามที่หลายคนอาจสนใจคำตอบอยู่เงียบๆเหมือนตัวเขาผู้ตั้งถาม นั่นคือการตั้งคำถามถึงเรื่องราว 2-3 ประเด็นเกี่ยวกับ โควิด-19
เรื่องแรก (ถือว่าใหญ่พอควร) คือคำถามที่ว่า “พี่ว่าจริงหรือเปล่าที่จีนกล่าวหาว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ปล่อยเชื้อโคโรนา หรือ โควิด-19 ที่เมืองฮู่ฮั่น?” คำถามที่ 2 คือ “พี่ว่า..ที่คนยุโรปอเมริกาตายมากเป็นเพราะ “เงื่อนไขภววิสัย” ที่เป็นเมืองหนาวหรือเปล่า? (ลืมบอกไปนิดนึงว่าน้องคนนี้เป็นปัญญาชนสังกัดแนวคิดที่เรียกว่า “Marxist Approach” คือใช้วิธีวิทยาแบบ “วัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical materialism) ในการทำความเข้าใจหรือ “วิเคราะห์” ปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่งนั่นแหละ เขาจึงใช้คำศัพท์ “ภววิสัย (Subjective)” ในความหมาย “เงื่อนไขภายนอก” อย่างติดปาก) และ คำถามที่ 3 “พี่เห็นด้วยไหมว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์ (หรือระบบ “สังคมนิยม” ที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวผูกขาดการปกครองประเทศ แบบจีนหรือคิวบา หรือ เวียดนามนั่นแหละ) จะสามารถแก้ปัญหาได้ดีและเร็วกว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรปทั้งหลาย!?
ในขณะที่เขาตั้งคำถาม แต่แทนที่จะรอคำตอบจากผู้ฟัง เขากลับอรรถธิบายให้ทัศนะความเห็นต่อเรื่องที่ถาม เหมือนต้องการชี้นำให้ผู้ฟังคล้อยตามเสียมากกว่า
ในประเด็นแรก เขาบอกว่า คงพอสรุปได้แล้วแหละว่า เรื่องนี้น่าจะจริง มันเป็น “สงครามชีวภาพ” เพราะตอนนี้ อเมริกาภายใต้การนำของ นายทรัมป์ น่าจะกำลังไปไม่เป็นแล้ว ในขณะที่จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี เจี้ยน ผิง มีแนวโน้มจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ และคงชนะเรื่องสงครามการค้าในที่สุด จากนั้นก็คงสามารถช่วงชิงการนำสังคมโลกไปจากสหรัฐอเมริกาได้โดยสมบูรณ์ เพราะตอนนี้ “อัตวิสัย” (Objective=เงื่อนไขภายใน) ของอเมริกากำลังเละเทะเสื่อมทรามเต็มทีแล้ว ที่อยู่ได้ก็เพราะการค้าสงครามและการขายอาวุธเพียงอย่างเดียว...”
“ทั้งอากาศหนาว ทั้งความไม่คุ้นชินกับการสวมหน้ากาก(Mask) ประกอบกับส่วนใหญ่หมักหมมในการแต่งกาย..ซึ่งทั้งหมดนั่น เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากวิธีคิดแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม..เลยตายกันเร็วเหมือนใบไม้ร่วง เห็นไหม? ขณะที่จีนตอนนี้หยุดขยายตัวแล้ว..เปิดฮู่ฮั่นแล้ว.. ที่เมริกากลับมีผู้ป่วยกว่า 2 แสนเข้าไปแล้ว ..ต่อไปอาจมีคนตายเป็นแสนดังที่บางใครในหมู่พวกเขาว่าไว้แน่ๆเลย..นี่แหละที่เขาเรียกว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว...”
เขาอภิปรายด้วยทัศนะ “มาร์กซิสต์ แอพพร็อช” อย่างดุเดือด แต่กลับปิดท้ายบทจบด้วยพุทธภาษิต!
วินาทีนั้นเองที่พลันนึกขึ้นได้ถึง “วิธีวิทยา” ที่ควรจะใช้อธิบายกับคนไทยในยาม “โควิด-19” นี้ นั่นคือ “เอวังวาที มหาสมโณ” วาทะสุดท้ายแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น, ที่เรียกว่า คาถา “เย ธัมมา” นั่นไง!
“ เย ธัมมา เหตุปปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ”
“ ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ/ตถาคตกล่าวถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น/และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น/มหาสมณะ ทรงตรัสไว้เช่นนี้!”