จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี สเปน ไอซ์แลนด์ มาเลเซีย และลาว ขณะที่บางประเทศปิดบางส่วน เช่น จีน รัสเซีย และเยอรมนี เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการนำพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาควบคุมล่วงเข้าสู่ระยะเวลา 1 สัปดาห์แล้ว เริ่มเห็นผลเมื่อตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากนักเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังต้องการความร่วมมือจากประชาชน และการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นและจริงจัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลยึดหลักการ ปัญหาโควิด-19 มาเป็นอันดับ 1 นั้น ก็ถือว่ามาถูกทางเพราะชีวิตของประชาชนนั้น สำคัญที่สุด ด้วยขนาดมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมอยู่ ยังพบว่ามีการฝ่าฝืนจัดปาร์ตี้สังสรรค์เสพยากัน
แม้จะมีบางส่วนที่ยังกัลวลต่อปัญหาเศรษฐกิจหากมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินนานเกินไป อีกทั้งขอให้ผ่อนคลายมาตรการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องพิจารณาให้รอบคอบและรอบด้าน หากผ่อนคลายมาตรการเร็วไป ไม่ถูกจังหวะเวลา หรือ ผ่อนคลายผิดจุด การแพร่ระบาดกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง ก็อาจจะทำให้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดสูญเปล่า
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจ อดีตแกนนำนักศึกษา 14 ตุลา ศ.ธีรยุทธ บุญมี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เขียนบทความ ในหัวข้อ “เมษาชี้ชะตาประเทศ” ความตอนหนึ่งระบุว่า... “การต่อสู้กับโรคระบาดมี 3 มาตรการตามลำดับความร้ายแรง ความรุนแรงน้อยสุดใช้วิธีติดตาม ตรวจสอบ รักษา (contact tracing, testing และ treat) ซึ่งไทย สิงคโปร์ เกาหลี จีน เก่งมาก และได้ผลสูง แต่เมื่อการติดต่อขยายตัวเกินกำลังการติดตาม ก็ต้องเพิ่มและยกระดับมาตรการรวมพลังทางสังคมกำหนดระยะห่าง social distancing แต่ถ้าคนในสังคมยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ร่วมมือกันพอ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ 3 คือการบังคับทางสังคม (social sanction) ซึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมาย ออก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ. สงครามบางด้าน เช่น การบังคับภาคเอกชนให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือการสู้โรค ในปัจจุบันนี้เราใช้มาตรการที่ 3 มาได้ครึ่งทาง ตัวเลขผู้ป่วยที่รายงานกันมาก็สะท้อนว่ากำลังเกิดผล แต่เมษายนเป็นเดือนที่ทุกฝ่ายต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักที่สุด
ต้องเลี่ยงการระบาดแบบ super cluster หรือ super spreader ที่เกิดกรณีสนามมวย การชุมนุมศาสนา เพราะมันเสริมการระบาดแบบข้ามชนชั้น (cross sectorial) ลงสู่ชนชั้นล่าง และข้ามภูมิศาสตร์ ที่ต้องแก้ปัญหาจริงจังคือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคนหลายแสนอาจฝ่าฝืนกลับบ้านและจะมีส่วนกระจายเชื้อไปทุกชนชั้นและทุกภูมิภาคอย่างแท้จริง ต้องหาวิธีแก้อย่างเด็ดขาด ที่ต้องระวังเพิ่มเติมคือตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัดในทุกจังหวัด
จังหวัดส่วนใหญ่มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละไม่กี่ราย ขณะนี้มีมาตรการทั้ง 3 ขั้นให้ใช้แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ละเลยควรจะควบคุมได้ แต่มีบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ 4 จังหวัดภาคใต้ อยู่ในสภาพคล้ายกรุงเทพ ฯ ก่อนตัวเลขจะข้ามหลักร้อยมาเป็นหลักพัน ต้องใช้มาตรการเข้มข้นและบังคับใช้จริงจังจึงจะสำเร็จ
คำสั่งต้องเข้าใจสภาพรูปธรรม มี logistics และผู้ปฏิบัติรองรับให้สำเร็จ เช่น จะจัดระยะห่างบนรถสาธารณะในเมืองและต่างจังหวัด แต่รถไม่พอก็จะปฏิบัติไม่ได้
สู้อีกระยะ เราชนะได้แน่ ที่ผ่านมาแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขของเราทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ทันกาล รัฐบาลก็ปรับตัวอย่างถูกต้องที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์เป็นผู้นำทางความคิด ตัวเองหันไปพิจารณาภาพรวมและดำเนินมาตรการต่าง ๆ รองรับ ถือว่าทำได้ถูกทางไม่สายเกินไป มีโอกาสควบคุมไม่ให้คนติดโรคกันเกือบทั้งเมืองเหมือนอิตาลี อังกฤษ สเปน อเมริกา ซึ่งถือว่าปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการควบคุมโรค ทั้งนี้นอกจากปัจจัยผู้นำ มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งประชาชนมีความเป็นปัจเจก มั่นใจตัวเอง ไม่คล้อยตามผู้อื่นง่าย ๆ กลุ่มยุโรปใต้รักความสนุกสนาน ส่งผลให้การติดเชื้อยังเพิ่มทะยานตลอดเวลา แม้หลายประเทศจะสั่งปิดเมืองแล้วก็ยังล้มเหลว”