แสงไทย เค้าภูไทย การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และเภสัชกรรมหลังจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสิ้นสุดลง จะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ประชาโลกตั้งคำถาม เพราะยาและกระบวนการรักษาในวันนี้ ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาด และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคได้เด็ดขาด การระบาดซ้ำมีความเป็นไปได้เป็นอย่างมาก ดังที่ไวรัสเมอร์ส(ระบาดช่วงปี 2002) และซาร์ส (ระบาดช่วงปี 2012) ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดขณะนี้เป็นสายพันธุ์สืบทอดลำดับที่ 7 ของไวรัสสองสายพันธุ์ดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตุว่า ช่วงเวลาระบาด ทิ้งห่างกันประมาณ 10 ปี ซึ่งไวรัสโคโรนาพันธุ์ที่ 7 นี้ก็ห่างจากซาร์สราว 8-9 ปี ใช่แต่จะพัฒนาหรือกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ก่อนหน้าแล้ว แม้แต่ตัวของไวรัสโคโรนาเอง ขณะนี้ก็กลายพันธุ์เป็น 2 สายพันธุ์แล้ว มนุษย์พยายามคิดค้นยาและวัคซีนเพื่อสู้กับไวรัสทุกสายพันธุ์ แต่ก็ไม่สามารถฆ่ามันได้ แม้แต่ไวรัสที่ก่อเกิดไข้หวัดธรรมดา (common cold) ที่น่ากลัวที่สุด คือไข้หวัดใหญ่ (influenza หรือ flu) ที่กลายเป็นโรคประจำฤดูกาลของสหรัฐฯไปแล้ว เพราะมักเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนข้ามปีมาถึงเมษายนของทุกปี ฤดูกาลนี้ มีผู้เสียชีวิตเพราะไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯแล้วกว่า 12,000 คน ทั้งๆที่รัฐบาล ได้สร้างโรงพยาบาลมีจำนวนห้อง 1,000 ห้องไว้รับมือ แต่เพราะไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ทำให้เจ็บป่วยทันทีทันใด และแพร่กระจายรวดเร็วเหมือนโควิด-19 ก็ทำให้ไม่เป็นข่าวใหญ่ทำลายขวัญมากนัก นวัตกรรมใหม่ทางการแพทย์มักจะตามหลังการกลายพันธุ์ของไวรัส แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ตัวยาที่ใช้รักษาไวรัสชนิดหนึ่งในอดีต ก็สามารถนำมาใช้รักษาไวรัสที่เกิดใหม่ได้เหมือนกัน อย่างเช่น oseltamivir ชื่อการค้า Tamiflu ที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ก็นำมารักษาไวรัสโคโรนาได้ ดังที่คณะแพทย์ รพ.ราชวิถี นำมาใช้ควบกับ Lopinavir/Ritonavir ที่ใช้รักษาไวรัส HIV ที่ก่อเกิดโรคเอดส์ได้สำเร็จ ทางจีนก็ใช้ยาต้านเอดส์รักษาไวรัสอู่ฮั่นเช่นกัน ขณะที่สหรัฐฯได้ใช้ยา remdesivir ที่พัฒนาขึ้นมาจากยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้ออีโบลาที่ระบาดในคองโก เมื่อปี 2018 และได้นำมาทดลองใช้ที่จีนในช่วงที่ผ่านมา และด้วยความที่เป็นไข้ที่อยู่ในกลุ่มไข้ป่า ยารักษามาลาเรียก็ใช้รักษาไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ สั่งการให้อย.สหรัฐฯตรวจสอบเป็นการด่วนว่า Hydroxychloroquine (HCQ) ที่เป็นอนุพันธุ์ของ chloroquine รักษามาลาเรียนั้น ต้านโควิด-19 ได้ขนาดไหน พิษวิทยาเป็นอย่างไร ทำให้คิดว่า สะเดาอินเดีย หรือ ต้นควินิน ของบ้านเราก็น่าจะต้านไวรัสตัวนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวยาและวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงนี้อีกหลายขนาน แม้แต่ยาแผนดั้งเดิม ดังเช่น ยาชิงเฟ่ย ผายตู้ทัง ที่จีนใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันรักษาได้ผลดี รวมถึงยาอีกหลายขนานที่โรงพยาบาลจีนใช้ชะลออาการรวมแล้วกว่า 500 ขนาน นอกจากยาต้านไวรัสแล้ว ยังมีความพยายามคิดค้นวิจัยยาฟื้นฟูร่างกายหลังป่วยอีกหลายขนาน แม้ขณะนี้จะยังไม่พบยาฟื้นฟูสภาพปอดที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเสียหาย เป็นพังผืดไปทั่วได้สำเร็จ แต่นักวิทยาศาสตร์สุขภาพของจีนก็สามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้สำเร็จ สามารถนำไปฟื้นฟูคืนสภาพปอดได้แล้ว ขณะที่มีความพยายามคิดค้นยา และวัคซีนป้องกันไวรัส ทั้งสายพันธุ์โคโรนา และสายพันธุ์อื่นๆ ก็มีคำถามว่า ทำไมไม่นำค้างคาว และ ตัวนิ่มที่เป็นที่สิงสู่ของไวรัสนี้มาวิจัยหาสาเหตุว่า ทำไมไวรัสชนิดนี้ถึงไม่สามารถทำอันตรายสัตว์ทั้งสองได้ มียีนส์หรือสารภูมิคุ้มกันใดที่สัตว์ทั้งสองชนิดสร้างขึ้นมาหรือมีอยู่ในตัวอยู่แล้วที่ต้านไวรัสนี้ได้ เข้าใจว่า คงจะมีการซุ่มทำวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันของค้างคาวและสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆที่ต้านไวรัสโคโรนาได้กันอยู่เงียบๆ หวังว่าจะมียาดีรักษาโรคนี้ และโรคไวรัสอื่นๆได้ในไม่เกินทศวรรษนี้ อันจะทำให้ไวรัสพันธุ์นี้สูญพันธุ์ไปสมดังที่ นางซิลเวีย บราวน์ ผู้มีญาณหยั่งรู้ได้พยากรณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไวรัสตัวนี้จะมาระบาดในช่วงนี้ และจะหายไป จากนั้นอีกสิบปีจะกลับมาอีกแล้วหายสาปสูญไปเลย อยู่รอพิสูจน์คำพยากรณ์นี้ก่อนนะ อย่าเพิ่งรีบตายไปกับโควิด-19 เสียก่อน