การทำงานของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในระยะหลังๆ แทบไม่มีวันหยุด เหมือนเช่นเคย ยิ่งเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยพุ่งสูงขึ้น เลยหลักพันมาตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ก่อน บิ๊กตู่ จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา ทุกงานสัปดาห์ละ 7 วัน ไม่มีวันหยุด เพราะในจังหวะนี้ ทุกอย่างคือเรื่องเร่งด่วน ! พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วันหยุดสุดสัปดาห์เข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชุมหารือกับบุคลากรทางการแพทย์ และล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่29 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เรียกระดับ “ปลัดกระทรวง” เข้าหารือในลักษณะ “วงเล็ก” อันประกอบด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข , บุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ , ประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีสถิติที่น่าเป็นห่วง เพราะเพิ่มขึ้นในลักษณะ “ก้าวกระโดด”และ “ต่อเนื่อง” ล่าสุดข้อมูลจากการแถลงข่าว จากศูนย์โควิด-19 ณ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 143 ราย ทำให้มียอดสะสมอยู่ที่ 1,388 ราย และผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7 ราย ภายหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายคาดหวังว่า เมื่อมีการยกระดับใช้ “ยาแรง” ด้วยการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต จะลดลง อีกทั้งยังประเมินว่า มาตรการและ “ข้อห้าม” ต่างๆที่ออกมาน่าจะทำให้ “การกักตัว” ของประชาชน เป็นไปอย่างเคร่งครัดมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า ยังมีการฝ่าฝืน บางพื้นที่ยังแอบจัดงานปาร์ตี้ จนมีเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการด้วยกฎหมาย ดังนั้นหมายความว่า “ยาแรง” เพียงแค่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังอาจไม่มากพอ ใช่หรือไม่ ? หรือเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่ การบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเอง ยังไม่คุมเข้มมากพอ จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการลงโทษ ทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ เหมือนกับที่ในบางประเทศ นำมาใช้อย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รัฐบาล กำลังดำเนินมาตรการเพื่อหาทางชะลอและสกัดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 ไปพร้อมๆกับการออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป แต่ยังต้องไม่ลืมว่า “ปัญหาเดิม” ที่เคยผุดขึ้นมาก่อนหน้านี้ กลับไม่ได้ทำให้ผู้คนหลงลืมจนไม่ทวงถาม ความชัดเจนแต่อย่างใด ! ปัญหาการสอบสวนการกักตุนหน้ากากอนามัย ที่ทำให้ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เดือดร้อนกันถ้วนหน้า นั้นรัฐบาลดำเนินไปถึงไหน “คนผิด” มีจริงหรือไม่ ล่าสุดยังต้องไม่ลืมว่า หนึ่งในสาเหตุของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้ตัวเลขพุ่งทะยานมาแตะที่หลักพันกว่ารายครั้งนี้ มาจากการที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งมี “นายพล”นายทหารของกองทัพบก นั่งเป็นผู้บริหาร ไม่ยอมเลื่อนการจัดชกมวยออกไป แต่กลับเลือกที่จะ “เดินหน้า” จนทำให้มีการแพร่เชื้อไวรัสในสนามมวย ลุกลามจากในกทม.ไปถึงต่างจังหวัด นั้น ที่สุดแล้ว “กองทัพบก” จะมีคำตอบให้สังคมหรือไม่ เพราะการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ “พล.อ.ราชิต อรุณรังษี” เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี นั้นเป็นแค่ฉากหนึ่งของความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีเสียงโจมตีจากสังคม สิ่งที่กำลังสะท้อนความเป็นไปภายในรัฐบาล และทุกองคาพยพที่เชื่อมโยงกับพล.อ.ประยุทธ์ จึงเกิดเป็นภาพที่ย้อนแย้ง อย่างที่เห็น เมื่อ “หัวขบวน” กำลังเร่งหาทางแก้วิกฤติจากโควิด-19 แต่ปรากฎว่า “หางแถว” กลับเต็มไปด้วยความวุ่นวาย สร้างปัญหาฉุดเรทติ้งให้ดิ่งลงในทุกๆวัน !