ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ผ่านมาหลายปี ดูเหมือนว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทรงๆ ตามจังหวะเวลา กระทั่งผู้คนที่เคยถูกกดดันจากสถานการณ์ต้องปรับเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิตและอารมณ์ตัวเอง จากสภาพกดดัน หวาดกลัว ไปสู่การผ่อนคลาย ยอมรับ และหาทางออกให้กับชีวิตตัวเอง จึงเป็นที่มาของการพยายามกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งด้านหนึ่งลึกๆ แล้วเป็นเรื่องน่าหวั่นเกรงยิ่งกับสภาพที่เหมือน “ยอมจำนน” ของผู้คน หากทว่าอีกด้านหนึ่ง กลับสะท้อนถึงการโหยหาสันติภาพความสงบสุข ที่ตนเอง ครอบครัว และสังคม ต้องการ หลังจากที่ต้องผจญกับสถานการณ์รุนแรงที่ยืดเยื้อและสร้าง "บาดแผล” ให้ผู้คนและแผ่นดินไว้มากมาย นั่นจึงนำมาสู่บทบาทของผู้คน กลุ่ม หน่วยงาน ฯลฯ ที่พยายามพลิกสถานการณ์ข่าวจากที่มีแต่ “ข่าวร้ายๆ” กลับมาเป็น “ข่าวสารดีๆ” ให้มากขึ้น และนั่นทำให้ “ข่าวภาคใต้ชายแดน” กลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ด้านการเสนอข่าวที่น่าสนใจและน่าจับตามากขึ้นเรื่อยๆ หลายวันมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามการทำงานของ น้องเดียร์ - อลิษา  ดาโอ๊ะ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมข่าวของ “ข่าวภาคใต้ชายแดน” ลงพื้นที่ทั้งที่บ้านบราโหม ตะโละสะมิแล แหลมตาชี อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ฯลฯ ทำให้ได้รับฟังเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย และต่อมาเธอได้นำเสนอเป็น “เรื่องเล่า” ผ่านแฟนเพจและเว็บไซต์ “ข่าวภาคใต้ชายแดน” ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเรื่อง “ตาลโตนด” พืชเศรษฐกิจ ต.บราโหม จ.ปัตตานี สร้างรายได้งามกว่า 2,000 บาท/วัน” เธอนำเสนอว่า มาถึงฤดูร้อนแบบนี้ เลยอยากนำเสนอเรื่องของกินดับกระหายอย่าง “ลูกตาลโตนด” ซึ่งมีร้านค้าตั้งเรียงรายอยู่ตลอดเส้นทางจากตัวเมืองมุ่งหน้าสู่ อ.ยะหริ่ง นางสุดารัตน์ แม่ค้าร้านค้าริมทาง ให้ข้อมูลว่า ที่ร้านจะขายสินค้าที่เป็นของฝากหลายอย่าง แต่ที่โดดเด่นมากๆ คือสินค้าที่มาจาก ‘ตาลโตนด’ มีทั้ง ผลตาลสด ลูกตาลอ่อน น้ำตาลสด (คนพื้นที่จะเรียกว่าตูเว๊าะ) น้ำตาลแว่น น้ำตาลปี๊ป น้ำส้มสายชูหมักจากตาลโตนด สำหรับตาลโตนดจะขายดีช่วงเทศกาลช่วงปีใหม่ถึงช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสงกรานต์จะขายดีมากๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นขาจร ที่เดินทางผ่านไปมา แล้วแวะซื้อ ในส่วนของราคานั้นช่วงที่มีลูกตาลเยอะอย่างช่วงหน้าร้อนแบบนี้ จะขายถุงละ 20 บาท โดยบรรจุลูกตาลอ่อนจำนวน 5-7 ผล หรือถ้าซื้อในราคา 100 บาทก็จะได้ 6 ถุง สำหรับช่วงที่ลูกตาลไม่ค่อยมี จะขายในราคาสูงสุดถุงละ 25 บาท ผลตาลสดจะรับมาจากชาวบ้านในพื้นที่ที่มีอาชีพปีนต้นตาลมาส่งให้ถึงที่ ผลตาลที่ได้เก็บมาจากในพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้รับมาจากที่อื่น ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนแบบนี้จะมีลูกตาลเยอะและจะขายดีมากๆ ขายได้เป็นร้อยถุงต่อวัน นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลสดแช่เย็น(น้ำตูเว๊าะ) ที่เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ขายดี คนที่จอดแวะส่วนใหญ่จะลงมาเลือกซื้อสินค้าพร้อมกับจิบน้ำตาลสดดับร้อนไปด้วย รายได้ต่อวันที่ขายลูกตาลในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนนี้ไม่ต่ำว่า 2,000 บาท “ตะโละสะมิแล หาดทราย ชายทะเล เสน่ห์ชายแดนใต้ สร้างงาน สร้างรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน” คืออีกเรื่องราวหนึ่งที่เธอนำเสนอ ด้วยการบอกเล่าว่า อากาศร้อนๆ ทะลุทะลวงในช่วงซัมเมอร์แบบนี้ สิ่งที่ใครหลายคนอยากทำที่สุด คงหนีไม่พ้นการได้ไปพักร้อน พักใจ พักกาย นั่งรับลมเย็นๆ หรือแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นและน้ำทะเล ทำกิจกรรมสนุกๆกับคนในครอบครัว แค่คิดก็รู้สึกสนุกสุขใจแบบสุดๆไปเลย... เมื่อพูดถึงทะเลแล้ว หลายคนมักจะนึกถึงทะเลสวยๆฝั่งอันดามัน เกาะชื่อดังต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านการเช็คอินจากบรรดาเหล่าเซเล็ปฯ ชื่อดังบนโลกออนไลน์ แต่บทความบทนี้ข่าวภาคใต้ชายแดนขอนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยากจะบอกว่า ยอดจองรีสอร์ทและโฮมสเตย์เต็มเอี๊ยดมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงซัมเมอร์แบบนี้ และที่นั้นก็คือ หาดตะโละสะมิแล อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี นั่นเอง เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา คลื่นทะเลได้กัดเซาะเอาผืนดินของชาวบ้านนับร้อยๆ ไร่แถบนี้ หายไปในทะเล จนช่วงหลังมานี้มีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตกันคลื่นกัดเซาะ ทำให้มีผืนทรายขาวงอกเงยเกิดขึ้นตามแนวชายฝังทะเลอ่าวไทยประมาณ  1 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่หมู่ 1-3 ต.แหลมโพธิ์ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจ เกิดการค้าขาย สร้างงาน สร้างรายได้ พลิกเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแก่คนในชุมชนแห่งนี้ สารูมา กาเซ็ง เจ้าของรีสอร์ทบ้านไม้ริมทะเล หาดตะโละสะมิแล (รีสอร์ทเจ้าแรกในย่านนี้) เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจมาจากความไม่ตั้งใจ คือได้สร้างบ้านให้น้องชายมาพักในช่วงวันหยุด เมื่อสร้างเสร็จแล้วบ้านหลังนั้นก็เป็นที่สะดุดตาของใครหลายๆคนที่มารับลมชมทะเล มีหลายคนมาขอเช่าพัก และถึงขั้นมาขอซื้อก็มี จึงทำให้เกิดความคิดที่จะเปิดเป็นบ้านพักริมทะเลขึ้น ซึ่งปัจจุบันบ้านไม้ริมทะเล มีห้องพักให้บริการทั้งหมด 26 หลัง ห้องพักที่นี่จะมีลักษณะเป็นเหมือนโฮมสเตย์ คือ มีที่พักพร้อมอาหาร หรือสามารถนำอาหารสดมาประกอบอาหารได้ โดยทางเราจะเตรียมพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆให้ ราคาห้องพักจะเริ่มตั้งแต่ 400 -1200 บาท มีทั้งแบบพักเป็นคู่ปกติและบ้านพักแบบครอบครัว ซึ่งยอดจองในช่วงหน้าร้อนนี้เต็มแน่นมาตั้งแต่ช่วงเดินมีนาคมที่ผ่านมา โอมิร่า เจ๊ะแว ผู้จัดการมูเทียร่า รีสอร์ท (รีสอร์ทน้องใหม่ในย่านนี้) กล่าวว่า ทุกวันนี้การท่องเที่ยวที่หาดตะโละสะมีแล คึกคักมาก นักท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีรีสอร์ทเพิ่มขึ้นถึง 28 แห่ง ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจที่เห็นพี่น้องทั้งในและนอกพื้นที่หันมาท่องเที่ยวในบ้านเรา ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และชุมชน เป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนแห่งนี้ให้ยังคงอยู่ต่อไป ที่สำคัญทำให้คนที่ออกไปหางานทำที่อื่น ได้กลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดและได้อยู่กับครอบครัว ทำให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง นอกจากจะมีทะเลสวยๆ บรรยากาศดีๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมสนุกๆ อีกมากมาย อาทิ การให้บริการเรือบานานาโบทหรือเรือกล้วย หรือจะเป็นเรือคายัค ห่วงยาง  มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสนใจกับกิจกรรมเหล่านี้ เพราะในจังหวัดชายแดนใต้จะหากิจกรรมที่เล่นกันได้ทั้งครอบครัวแบบนี้ได้ยาก เราจึงได้ยินเสียงหัวเราะแห่งความสุขดังกึกก้องอยู่ตลอดสาย เช่นที่ โนร์มีร์รา ดะแซ นักท่องเที่ยวจากจังหวัดนราธิวาส สะท้อนว่า ในฐานะที่ไปใช้ชีวิตไปเรียนอยู่นอกพื้นที่อยู่หลายปี ก็จะรับรู้ได้ว่าคนภายนอกจะมองบ้านเราในทางลบ จะคิดถึงแต่เหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่เปิดใจมองสิ่งที่สวยงามที่มีอยู่มากมาย ความเป็นจริงแล้วไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ดูได้จากแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์ผ่านโลกโซเชียล ทำให้เห็นความสวยงาม วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ “...หนูเชื่อว่าไม่ใช่เพียงแค่ตัวหนูเองที่อยากมา คนพื้นที่อื่นเมื่อได้เห็นความสวยงามเหล่านี้แล้วก็จะทำให้รู้สึกอยากมาที่นี่เช่นกัน หนูรู้สึกดีใจที่บ้านเรามีสถานสวยๆ แบบนี้ เห็นคนมาเที่ยวเยอะๆ แบบนี้ เพราะคนในพื้นที่เองได้เห็นแบบนี้แล้วความหวังเรื่องสันติภาพมันก็ใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น...” “ข่าวภาคใต้ชายแดน” ยังคงมีเรื่องราวที่พร้อมจะถูกเล่าขานอีกมากมายจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ที่มีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และมิติด้านเศรษฐกิจของพื้นที่ปลายด้ามขวาน ตราบเท่าที่ผู้คนยังโหยหาข่าวสารดีๆ แทนที่ข่าวสารร้ายๆ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะตลอดหลายปีมานี้