ณรงค์ ใจหาญ
การสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทยมีหน่วยงานหลักคือ ตำรวจ ซึ่งรับผิดชอบการสอบสวนคดีอาญาทั่วราชอาณาจักรมาเป็นเวลาหลายสิบปี การปฏิรูปการสอบสวนคดีอาญาของไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ให้ความสำคัญกับการสอบสวนคดีอาญาไว้และถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญา ควบคู่กับการปฏิรูปองค์กรตำรวจไปพร้อมๆ กันทั้งนี้เพราะในด้านหนึ่งระบบการสอบสวนคดีอาญายังแยกส่วนความรับผิดชอบระหว่างตำรวจกับพนักงานอัยการ ซึ่งมีปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งสองในการดำเนินการสอบสวนและสั่งคดี ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนบุคคลากรของตำรวจยังไม่เอื้อต่อการทำให้การทำงานของตำรวจซึ่งต้องใช้ทักษะความสามารถในการดำเนินงานเพื่อให้ได้ข้อมูลและพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวนเกิดข้อกังขาว่าได้กระทำด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมมากเพียงใด
ประเด็นแรกของการปฏิรูปคือเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างตำรวจ และพนักงานอัยการ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการพัฒนาการประสานงานระหว่างตำรวจกับพนักงานอัยการให้มีความใกล้ชิดและสามารถประสานงานเพื่อให้ได้ข้อมูล รวมถึงพยานหลักฐานที่ดีเพียงพอในการวินิจฉัยคดีต่อไปได้ การพัฒนาการประสานงานนี้ จึงเป็นประเด็นหลักในการปฏิรูป ซึ่งต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่า รูปแบบที่กฎกมายไทยกำหนดสำหรับการสอบสวนคดีอาญาโดยทั่วไปคือ ตำรวจสอบสวน พนักงานอัยการสั่งฟ้อง ซึ่งแยกหน้าที่กันเด็ดขาด ไม่ก้าวล่วงซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ในชั้นสอบสวน ตำรวจระดับสัญญาบัตร ที่ได้รับการอบรมให้ทำหน้าที่สอบสวนก็จะดำเนินการจนเสร็จ แล้วจึงส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาและสั่งคดีว่าควรฟ้องหรือไม่ ปัญหาจึงเกิดในช่วงรอสำนวนและช่วงสอบสวนเพิ่มเติม หลังตรวจสำนวนแล้วเห็นว่ามีข้อที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานอัยการจะเรียกพยานมาสอบเพิ่มเติมเองไม่ได้ ต้องให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้สอบ จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการส่งสำนวนและรอการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนจึงจะสั่งคดีได้ ประกอบกับในกฎหมายไทยกำหนดระยะเวลาที่จะควบคุมผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนไว้เพียงไม่เกินกำหนดเวลาที่มาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ กล่าวโดยเฉพาะ ไม่เกิน 84 วันหลังจากควบคุมที่สถานีตำรวจมาแล้ว 48 ชั่วโมง ศาลจะสั่งฝากขังได้ไม่เกินระยะเวลาดังกล่าว หากจะสอบสวนต่อไปก็จะต้องปล่อยตัวไปโดยไม่มีอำนาจคุมขัง จึงเป็นความเสี่ยงที่พนักงานอัยการต้องพิจารณาสำนวนการสอบสวนให้เร็จภายในระยะเวลาที่ขอฝากขังได้ มิฉะนั้นก็ต้องปล่อยตัวไปก่อนเพราะหมดอำนาจควบคุมแล้ว และเป็นความเสี่ยงที่ไม่ได้ตัวมาในการฟ้องคดี ทำให้ทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการถือเอาว่า การสอบสวนต้อง ทำให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่ขอฝากขังได้ในกรณีที่ผู้ต้องหามีความจำเป็นต้องคุมขังไว้ ทั้งๆ ที่ระยะเวลาในการคุมขังเป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนคดี
ถ้าจะเปรียบเทียบกับกฎหมายในต่างประเทศในประเด็นเรื่องการสอบสวนและการประสานงานของตำรวจกับพนักงานอัยการ พบว่าในกฎหมายเยอรมัน กฎหมายให้พนักงานอัยการเป็นหลักในการสอบสวน ตำรวจเข้ามาช่วยตั้งแต่ก่อนที่คดีจะส่งไปให้พนักงานอัยการ และทั้งสองฝ่ายมีการปรึกษาหารือในการดำเนินงานเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด ในขณะที่กฎหมายญี่ปุ่น กฎหมายเกาหลีใต้ซึ่งใช้รูปแบบการสอบสวนเช่นเดียวกับระบบยุโรปก็ให้พนักงานอัยการเข้ามาตั้งแต่ชั้นต้นแห่งคดีเพื่อทำงานร่วมกัน สำหรับการสอบสวนของฝรั่งเศสมีอัยการหรือพนักงานสอบสวนเป็นพิเศษ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ในขณะที่อังกฤษมีตำรวจเป็นหน่วยงานหลักในการสอบสวน และพนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องคดี ความแตกต่างของภาระความรับผิดชอบระหว่างตำรวจกับพนักงานอัยการของแต่ละประเทศจึงขึ้นอยู่กับรูปแบบของกระบวนพิจารณาที่แต่ละประเทศนำมาปรับใช้ และความพร้อมในตัวเจ้าพนักงานที่เข้ามาปฏิบัติด้วย แต่อย่างไรก็ตามแม้ในระบบกฎหมายที่ให้พนักงานอัยการสามารถเข้ามาในคดีได้ตั้งแต่เริ่มคดีนั้น ในเยอรมัน ญี่ปุ่นก็ไม่ได้เข้ามาตั้งแต่ต้นแต่จะเข้ามาในคดีสำคัญที่ต้องว่างรูปคดีให้รัดกุม และมีความซับซ้อนจึงจะเข้ามาร่วมในการสอบสวนในชั้นแรก แต่ในการสอบสวนปากคำและการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของตำรวจประสานกับหน่วยงานทางนิติวิทยาศาสตร์หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานอย่างสมบูรณ์เพื่อประกอบการออกคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการและนำไปสู่การพิจารณาสืบพยานหลักฐานในศาลต่อไป หากพิจารณาจากกฎหมายในหลายๆ ประเทศแล้ว จึงเห็นได้ว่าระบบการสอบสวนคดีอาญายังอยู่ในกรอบของความร่วมมือระหว่างตำรวจกับพนักงานอัยการ โดยในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ตำรวจจะเป็นผู้สอบสวนเป็นหลัก พนักงานอัยการจะเข้ามาร่วมวางกรอบในการตั้งรูปคดีและเพิ่มเติมส่วนที่ขาดไปในการสอบสวนของตำรวจ การประสานงานระหว่างองค์กรทั้งสองจึงต้องมีอยู่ทั้งในการกำหนดหลักเกณฑ์และการประสานงานในทางปฏิบัติด้วย
ประเด็นที่สองคือ ข้อจำกัดในด้านการบริหารงานบุคคล คือเรื่องค่าตอบแทนตำรวจ การมีเครืองมือในการสืบสวน สอบสวนและทัศนคติ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงตนให้เป็นธรรมหรือเป็นกลางได้ จากการสำรวจพบว่าตำรวจไทยมีรายได้น้อยถึงขนาดไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพโดยเฉพาะตำรวจชั้นประทวน ซึ่งทำหน้าที่ในการจับกุมตรวจค้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบได้ง่าย ในขณะที่ตำรวจในเยอรมัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ ได้รับค่าตอบแทนที่สูงเพียงพอต่อการดำรงชีพในตำแหน่งดังกล่าวและมีความสามารถที่จะก้าวสู่ความสำเร็จในวิชาชีพของตนได้ในระดับเดียวกับผู้พิพากษา พนักงานอัยการจึงสามารถพัฒนาทักษะและความสามารถในวิชาชีพของตนได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยพบว่าตำรวจในเยอรมัน ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรืออังกฤษ ประพฤติผิดหน้าที่ช่วยผู้ต้องหาเพราะต้องการเงินหรือโดยทุจริต แต่เหตุที่เกิดขึ้นจากการประพฤติมิชอบเป็นเหตุผลส่วนตัวเช่นช่วยญาติ พี่น้อง หรือคู่รักเป็นต้น เพราะค่าตอบแทนที่ตำรวจได้รับมีเพียงพอที่จะไปเสี่ยงต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากการทุจริตโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่
นอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว เครื่องมือในการสอบสวนเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับพนักงานสอบสวน กล้องวงจรปิดที่ติดตามสถานที่สำคัญ เครื่องมือสื่อสาร เงินที่ใช้ในการหาข่าว หรืองบประมาณในการแสวงหาพยานหลักฐานเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าเพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นต้นทางของการหาหลักฐานจึงต้องมีเวลาและงบประมาณเพียงพอ การกำหนดระยะเวลาในการสอบสวนให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดแม้เป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ต้องพิจารณาถึงศักยภาพในการแสวงหาด้วย หาก มีข้อตำกัดด้วยเวลา เจ้าหน้าที่จะตกในภาวะบีบคั้นและหาทางออกโดยจับแพะมาเพื่อแสดงว่ามีการดำเนินการแล้วด้วยความสำเร็จแต่ท้จริงเป็นการจัดฉากซึ่งก่อให้เกิดผลสียหายทั้งต่อสังคมและความน่าเชื่อของกระบงนการยุติธรรมด้วย
ทัศนคติของบุคลากรมีความสำคัญเช่นเดียวกันเพราะหากเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมมีความเข้าใจว่าการสอบสวนเป็นเรื่องอำนาจ และเป็นการทำในหน้าที่ของตนการประสานงาน และการรวบรวมพยานหลักฐานจึงจะออกมาในรูปของการควบคุมประชาชนมากกว่าการบริการประชาชน หรือหากถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะในหน้าที่ของตน เมื่อจะมีการปฏิรูปในส่วนที่ตนรับผิดชอบก็จะ มีแรงต่อต้านและหวงกันอำนาจที่จะเสียไป จนเกิดเป็นแรงต่อต้านทางการเมืองเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจแทนที่จะเป็นการประสานงานร่วมกัน
การปฏิรูปการสอบสวนจึงถึงเวลาของการทบทวนว่าบทบาทของตำรวจและอัยการในชั้นสอบสวนควรเป็นอย่างไร และกำหนดภารกิจของสองหน่วยงานให้ชัดเจนโดยมุ่งผลในการทำให้คดีมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และถูกต้องในขณะเดียวกัน การยกระดับค่าตอบแทนแก่ตำรวจ การจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการแสวงหาพยานหลักฐาน และการสร้างทัศนคติในการให้บริการแก่ประชาชน มีศักดิ์ศรีในการทำงาน ไม่ทุจริตเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาเป็นกรอบในการปฏิรูปการสอบสวนและปฏิรูปตำรวจในอนาคตของไทยอันใกล้จะถึงนี้ต่อไป.