“กฏแห่งกรรม” ทางพุทธศาสนา ใครปฏิบัติตนอย่างไร ย่อมได้รับผลจากการปฏิบัตินั้น ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ย่อมได้รับความดี มีคนสรรเสริญ ยกย่อง ปฏิบัติชั่ว ย่อมได้รับความชั่ว ถูกลงโทษ ถูกประณามรังเกียจ ระยะนี้ปรากฏข่าวคนได้รับผลกรรมจากการคดโกงกันมาก ทั้งการคดดกงกันในด้านธุรกิจทำมาหากิน และการคดโกงใช้อำนาจบาตรใหญ่ทำร้าย กดขี่ข่มเหงผู้อื่น ข่าวอย่างนี้เป็นข่าวดี ให้กำลังใจผู้คนที่เชื่อเรื่อง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ในสังคมไทยนั้น มีคนหน้าด้านกล้าคดโกงกันมาก เพราะเหตุไรคนไทยเหล่านั้นจึงกล้าหน้าด้านคดโกงกันมาก เพราะเหตุไรข้าราชการทั้งข้าราชการปรำและข้าราชการการเมืองจึงกล้าหน้าด้านคดโกงกันมาก สาเหตุหนึ่งก็มาจาก คนไทยไม่เชื่อเรื่อง “ศีลธรรม” ไม่เชื่อกฏแห่งกรรม เพราะ “คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป” ถ้าปล่อยให้ความเชื่ออย่างนี้เจริญพันธุ์ ขยายตัวต่อไปเรื่อย ๆ สังคมไทยก็จะวุ่นวาย มีทุกข์เพิ่มขึ้นร้ายแรงขึ้น ภาครัฐภาคเอกชนจึงต้องทำงานให้หนักขึ้น พิสูจน์ให้ได้ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แนะนำไว้ว่า “สุภาษิต (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว)นี้ใช้ได้ตลอดไป คนที่สงสัยสุภาษิตนี้คือคนที่มีธาตุของความชั่วอยู่ในตัวของตัวเองแล้ว ความดีนั้นเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของคนดีทุกคน ฉะนั้นเมื่อได้ทำความดีแล้ว ก็ย่อมพึงพอใจในผลของการกระทำของตนที่เกิดขึ้นคือความดีนั้นเอง มิใช่มุ่งหวังลาภยศวาสนาเป็นเครื่องตอบแทน คำว่า “ทำดีได้ดี”นั้นหมายความว่าเมื่อทำดีแล้ว ความดีจะเกิดเป็นผลตอบแทน มิใช่ได้สตางค์รุ่มรวยเป็นมหาเศรษฐีหรือมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน ยกตัวอย่างเช่น เราช่วยคน ๆ หนึ่งให้พ้นจากความลำบาก เป็นสิ่งที่เราพึงปรารถนา เป็นความดีที่เกิดขึ้นหากเราช่วยได้ มิใช่ว่าเขาจะต้องมาตอบแทนสนองบุญคุณหรือไม่ ถ้าหากเขามีกตัญญูกตเวทีก็เป็นความดีที่เขาทำ แต่ถ้าหากเขาไม่มี หันมาแว้งกัดเอาเราเข้า ก็เป็นความชั่วของเขาเอง ทั้งสองอย่างไม่เกี่ยวกับเรา ฉะนั้นคนดีจริงจึงมุ่งหน้าทำแต่ความดี ถือเอาความดีนั้นเองเป็นทั้งมรรคและผล มิใช่ถือเอาความดีเป็นมรรค เพื่อให้ได้ผลเป็นลาภสักการต่าง ๆ คนที่ถือความดีเป็นมรรคเพื่อให้ได้ผลอื่นนี้จะต้องท้อถอยในสุภาษิตนี้ทุกคนไป เพราะใจนั้นตั้งอยู่ในที่ผิดเสียแล้ว คือทำความดีมิใช่เพื่อความดี แต่เพื่อผลซึ่งในบางกรณีความชั่วก็อาจยังให้บังเกิดได้ เช่นทรัพย์สมบัติ หรืออำนาจวาสนา คนที่หวังเชนนี้มิใช่คนดี แต่เป็นคนชั่วซึ่งโอกาสที่จะทำความชั่วยังมาไม่ถึง จึงต้องซังกะตายทำความดีไปก่อน และคนที่มีความเข้าใจเช่นนี้ เมื่อโอกาสมาถึง เป็นต้นว่าเข้าไปอยู่ในตำแหน่งฐานะที่จะประกอบการทุจริตหาโภคสมบัติใส่ตัวได้ เป็นทำความชั่วทุกที ทั้งนี้เมื่อแรกเข้าไปก็เจตนาจะทำความดี เพราะความอยากได้ลาภยศและคำสรรเสริญนั้น เป็นโลภเจตนาประจำสันดานอยู่แล้ว” ( ตอบปัญหาประจำวัน 5กรกฎาคม 2494)