ทีมข่าวคิดลึก
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก "นักการเมือง" ที่มีต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) อย่างหนักหน่วง โดยมีการออกมาชำแหละชี้เป้าว่าประเด็นไหนที่จะสร้างปัญหาขึ้นในภายภาคหน้าบ้างก็ตามที ทว่า ในความเป็นจริงที่น่าสนใจและไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือการที่ "นักการเมือง" เหล่านั้นเองก็พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนไปสวมบท "นักเลือกตั้ง" กันได้ในทันทีเช่นกันความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ นับว่าน่าสนใจยิ่งนัก เนื่องจากธงเลือกตั้งเริ่มปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปจนถึงการกำหนดวันเวลาในการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับจะต้องเสร็จสิ้นภายในกี่วัน
แต่ทั้งนี้มีสัญญาณจากนักการเมืองที่พากันออกมากดดันให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งกันได้แล้ว เมื่อหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งสองฉบับเสร็จสิ้นลง ทั้งร่าง พ.ร.ป.กกต.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
สำหรับนักการเมืองแล้ว แน่นอนว่าย่อมไม่อาจทนรอให้มีการกำหนดวันเลือกตั้ง หรือรอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ไฟเขียวเปิดทางให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างแน่นอน เพราะอาจจะล่าช้าจนเกินไป !
การขยับขับเคลื่อนของพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้วางกรอบกติกาใหม่ที่เข้มข้นและเข้มงวดกว่าเดิมหลายเท่าที่เคยผ่านมา จึงทำให้งานนี้นักการเมืองต้องพากันดิ้นรนอย่างหนักทั้งเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและต้องหาทางฝ่าด่านสนามเลือกตั้งเข้ามาสู่สภาหินอ่อนให้ได้ ไปจนถึงการวางโพซิชั่นว่าจะเป็น "ฝ่ายค้าน" หรือ "ร่วมรัฐบาล"
นั่นหมายความว่า แท้จริงแล้วการเมืองวันนี้ได้มีการวางเกมยาวข้ามช็อตกันไปเรียบร้อยแล้ว !ท่าทีที่ต้องจับตามองไปยังการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองว่าจะหาทางดำรงอยู่ และกวาดชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนี้มาได้อย่างนั้น อาจไม่ได้พุ่งเป้าไปยัง "2 พรรคใหญ่" อย่าง"ประชาธิปัตย์" และ "เพื่อไทย" ในฐานะตัวเล่นหลักเท่านั้น
หากแต่ยังต้องไม่ลืมว่า บรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็กเองก็กำลังกลายเป็นจุดโฟกัสที่ต้องจับตาไม่น้อยไปกว่าพรรคการเมืองใหญ่เช่นกัน เพราะนี่คือ "ตัวแปร" สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลรอบหน้า ยิ่งเมื่อ "สูตรรัฐบาล" นั้นมีด้วยกันสารพัดรูปแบบ แต่หนึ่งในนั้นคือพรรคขนาดเล็กที่จะมีราคาที่ไม่อาจมองข้ามได้
เวลานี้ ยามพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย กำลังอยู่ในสภาพที่วุ่นวายเอาการภายใต้ภาวะที่สงบนิ่ง ทั้งศึกในและศึกนอกที่กำลังประชิด ประดังเข้ามา แต่สำหรับพรรคขนาดเล็กไปจนถึง"กลุ่มการเมือง" หน้าเก่าที่พร้อมจะโดดลงสนามเลือกตั้งรอบหน้า หลังประเมินทิศทางลม และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการได้เห็นหน้าค่าตาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับอย่างชัดแจ้งก่อนตัดสินใจ ต่างกำลังจับตาทุกความเคลื่อนไหวเช่นกัน
ทั้งความเคลื่อนไหวของฝ่าย คสช.เองว่าจะวางเกมยาว เมื่อโรดแมปจบลงที่การเลือกตั้งอย่างไร ไปจนถึง "อนาคต" ของพรรคการเมืองใหญ่จะเดินหน้ากันต่อเช่นใด
อย่างน้อยที่สุด การพบปะหารือกันอย่างสม่ำเสมอ และยืนระยะต่อเนื่องของ "กลุ่ม 16" ที่มี "สุชาติ ตันเจริญ" แกนนำกลุ่ม 16 ที่บ้านริมน้ำย่านจังหวัดนนทบุรี ก็ถือเป็นภาพความเคลื่อนไหวที่ทั้งทหารและสองพรรคใหญ่ไม่ควรมองข้าม !