รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “โควิด-19” ไวรัสที่ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาๆ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก รวมถึงสังคมไทย จากจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจกล่าวได้ว่าหากจะแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น คงจำเป็นต้องใช้ “ยาแรง” โดยการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มี.ค. 2563 การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน น่าจะทำให้ภาครัฐสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะอำนาจพิเศษนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะสามารถนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีบัญญัติในมาตรา 9 และ 11 รวมๆ ประมาณ 16 มาตรการ เช่น ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือ “เคอร์ฟิว” ภายในระยะเวลาที่กำหนด ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน หรือไปรวมตัวกันจำนวนมากๆ ห้ามการเสนอข่าวการจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะหรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทาง ห้ามการใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ใดๆ ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย รวมถึงประกาศให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็น “เจ้าพนักงาน” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะทำให้มีเอกภาพในการปฏิบัติและการสั่งการมากขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้ คือ อำนาจเต็มที่นายกรัฐมนตรี จะได้รับจากการประกาศ พรก. ฉุกเฉิน ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้การใช้ พรก.ฉุกเฉิน จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่อีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้การแก้ไขปัญหา “โควิด-19” มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คงหนีไม่พ้นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยมีการวิจัยพบว่า การทำ Social Distancing จะช่วยลดอัตรการแพร่ระบาดของไวรัสจากคนสู่คน โดยนักวิจัยที่ได้รับทุนจาก NIH-funded researchers ได้พยายามค้นหาคำตอบว่า ทำไมการเว้นระยะห่างทางสังคมถึงกลายเป็นความหวังที่จะชะลอการแพร่ระบาดไวรัสตัวนี้ได้ นักวิจัยได้ไปศึกษาจากเอกสารย้อนกลับไปดูข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการแพร่กระจายของ โคโรนาไวรัสในประเทศจีน พบว่า เมื่อมีการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโคโรนาทุกกรณีของจีนนั้น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีอีก 5-10 คน ที่ไม่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ สรุปง่ายๆ ว่ามีผู้ที่ติดเชื้อ แต่ตรวจไม่พบก็มากเช่นกัน แต่หลังจากจีน “จำกัด” การเดินทาง และให้มีระยะห่างทางสังคม การแพร่กระจายของ COVID-19 ก็ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ณ วันนี้ "การเว้นระยะห่างทางสังคม" จึงถือเป็นหนึ่งในอาวุธที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะสามารถชะลอการแพร่กระจายของไวรัสนี้อย่างเงียบๆ ซึ่งใช้ได้ผลดีและลดการแพร่ระบาดได้ในประเทศจีนนั่น แนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มีวิธีการในปฏิบัติดังนี้ การยืน นั่ง ห่างกัน 1.5-2 เมตร งดการรวมตัวกันในสถานศึกษา ที่ทำงาน ร้านอาหาร สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือสถานบันเทิงต่างๆ การรับประทานอาหารที่เป็นชุด สำหรับกินคนเดียว หลีกเลี่ยงการร่วมสำรับกับผู้อื่น การเปลี่ยนระบบการทำธุรกิจโดยใช้ทางออนไลน์ และติดต่อทางโทรศัพท์เป็นหลัก หรือปรับเวลาการมาทำงานให้ยืดหยุ่น หันมาเรียนออนไลน์แทนการเรียนในชั้นเรียน และเลี่ยงการจัดประชุมใหญ่ที่มีการรวมคนเป็นจำนวนมาก การจัดให้จองหนังสือออนไลน์ในห้องสมุด หรืออ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน หรือการใช้ขนส่งสาธารณะ เนื่องจากไวรัส COVID-19 นั้น สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสและละอองขนาดเล็ก การที่เราออกไปนอกบ้านใช้ขนส่งสาธารณะที่มีความหนาแน่น และในบางครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ราวจับ เช่น รถเมล์ หรือรถไฟฟ้า อาจทำให้เราติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว การ Social Distancing ที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาความสะอาด การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือสบู่อยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัย และให้คนไทยทุกคนผ่านเรื่องราวร้ายๆ นี้ไปได้ด้วยกัน บทสรุปสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพนั้น คงจะหวังพึ่งการดำเนินงานของภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อประคับประคองให้การแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้เกิดขึ้นช้าที่สุด และรอคอยความหวังในการคิดค้นยารักษาและวัคซีนที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างเป็นรูปธรรม แก้ปัญหา “โควิด-19” จะใช้แค่ พรก.ฉุกเฉิน ยังไม่พอ...หวังพึ่งเพียงภาครัฐก็คงไม่ได้..!! แต่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน “ประเทศชาติถึงจะผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้”..!! ส่วนเรื่องปัญหาปากท้องที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของ พรก.ฉุกเฉิน เชื่อว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างแน่นอน...หรือแม้แต่ภาคประชาชน ก็พร้อมช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบแน่แน่…!! “คนไทย” ด้วยกันยังไงก็ไม่เคยทิ้งกัน...หรือว่าไม่จริง!!??